ผลคะแนนและราคา 2 in 1 คะแนนในการแข่งสด ผลการแข่งขัน ตารางการแข่งขัน อัตราต่อรอง ข้อมูล คะแนนบาสเก็ตบอล
ฟุตบอล » ฟุตบอลไทย » ชำแหละ 'หนองจอก' ไม่เสร็จ มหกรรมโยนขี้ ขายหน้าประชาชี งานนี้ใครรับผิดชอบ!?

ชำแหละ 'หนองจอก' ไม่เสร็จ มหกรรมโยนขี้ ขายหน้าประชาชี งานนี้ใครรับผิดชอบ!?

Posted 15/10/2012 by ไทยรัฐ

 

หากเสร็จทันกำหนด 21 ต.ค.นี้ อย่างที่ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าฯ กทม. ประกาศคอเป็นเอ็นมาตลอด ก็คงต้องเรียกว่า "ปาฏิหาริย์" แท้ๆ

สำหรับสนาม "แบงค็อก ฟุตซอล อารีนา" บนพื้นที่กว่า 80 ไร่ บริเวณสถาบันพัฒนาข้าราชการกรุงเทพมหานคร เขตหนองจอก ที่ก่อนหน้านี้ถูกคาดหมายว่าจะกลาย "เป็นหน้าเป็นตา" ให้กับประเทศไทย ในฐานะศูนย์กีฬาในร่ม ความจุ 12,000 ที่นั่ง ที่ได้มาตรฐานระดับโลก ยิ่งใหญ่ และสวยงามที่สุดในภูมิภาคอาเซียน 

ว้าว!....ฟังแค่นี้ก็ขนลุกซู่แล้ว แต่ความจริงที่ทุกท่านได้เห็นภาพกันตอนนี้ ก็คือการก่อสร้างยังคงไม่แล้วเสร็จ ทั้งๆ ที่จะมีกำหนดแข่งขัน ฟุตซอลชิงแชมป์โลก 2012 ในอีกไม่ถึงหนึ่งเดือนต่อจากนี้แล้ว

ดังนั้น จากที่เคยถูกกำหนดให้เป็นสนามเมนสเตเดียมที่จะใช้ในพิธีเปิด-ปิด และการแข่งขันรอบแรก ของทัวร์นาเมนต์ ระหว่างวันที่ 1-18 พ.ย.นี้ ก็เลยถูกฟีฟ่าสั่งยกเลิกไปก่อน แต่ยังให้โอกาสส่งมอบสนามภายใน 25 ต.ค.นี้ หากเสร็จทัน ก็จะได้ใช้สนามแห่งนี้แข่งรอบ 8 ทีมสุดท้าย, รอบรองชนะเลิศ, ชิงชนะเลิศ และพิธีปิดต่อไป

อย่างไรก็ตาม คำถามที่ผุดขึ้นในหัวของประชาชนคนไทยอย่างเรา ก็คือเหตุใดถึงเกิดเหตุการณ์ "อับอาย และขายขี้หน้า" เยี่ยงนี้ ในเมื่อทุกๆ ฝ่ายที่เกี่ยวข้องทราบดีอยู่แล้วว่า ประเทศไทยได้สิทธิ์เป็นเจ้าภาพรายการระดับโลกนี้ล่วงหน้า

"ทีมข่าวกีฬาไทยรัฐออนไลน์" จึงขอลำดับเหตุการณ์ในการดำเนินการก่อสร้างสนามแบงค็อก ฟุตซอล อารีนา หนองจอก มาให้แฟนกีฬาได้ทบทวนกันอีกครั้งว่า อะไรเป็นสาเหตุที่ทำให้โปรเจกต์นี้ล่าช้า และ "ใคร" คือผู้ที่ต้อง "รับผิดชอบ"

ระหว่าง ฟีฟ่า, รัฐบาล, กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา, การกีฬาแห่งประเทศไทย, สมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทย, คณะกรรมการฝ่ายจัดการแข่งขัน, กรุงเทพมหานคร หรือ เทวดาฟ้าดิน...?

ย้อนกลับไปเมื่อเดือน มี.ค.ปี 2553

สหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ (ฟีฟ่า) ได้มีมติเลือกไทยเป็นเจ้าภาพการแข่งขันฟุตซอลโลก ครั้งที่ 7 โดยสามารถเอาชนะจีน, อิหร่าน, อาเซอร์ไบจาน, สาธารณรัฐเช็ก, ศรีลังกา และกัวเตมาลา ซึ่งแน่นอน พ่องานในการเสนอตัวติดต่อประสานงาน ก็คงหนีไม่พ้น "สมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ" ซึ่งนั่นหมายความว่า ไทยมีเวลาเตรียมตัวประมาณ 31 เดือน หรือ 2 ปีครึ่ง ภายใต้การบริหารของรัฐบาลนาย อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ซึ่งมี นายชุมพล ศิลปอาชา เป็นเจ้ากระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา

ข้อสังเกต....เหตุใด ฟีฟ่า ถึงมีมติเลือกประเทศเจ้าภาพ ในปี พ.ศ.2553 หรือ ค.ศ.2010 ทั้งๆ ที่ ประเทศบราซิล เป็นเจ้าภาพครั้งล่าสุด ในปี ค.ศ.2008 หรือ พ.ศ.2551 ซึ่งทำให้สูญเสียเวลาไปเกือบ 2 ปีฟรีๆ ขณะที่มหกรรมกีฬาระดับโลกอื่นๆ อย่าง ฟุตบอลโลก, โอลิมปิก หรือแม้กระทั่ง เอเชียนเกมส์ จะมีการกำหนดชาติเจ้าภาพ ทราบล่วงหน้าอย่างน้อยๆ ก็ 5-6 ปี

ถ้ามองให้ดี แค่จุดเริ่มต้นก็ถือว่า "ช้า" นิดหน่อยแล้ว แต่แทนที่จะรีบดำเนินการ ก็ต้องมาเจอเหตุการณ์ "ชักเย่อ" กันไปมา ในเรื่องของสถานที่ในการสร้างสนามเมนสเตเดียม ซึ่งตอนแรกไม่ได้อยู่ในโปรเจกต์ แต่เนื่องจากสนามกีฬาในร่มที่ใช้แข่งในระดับสากลของประเทศไทยที่มีอยู่ในปัจจุบันนั้น มีความจุน้อยกว่า 10,000 ที่นั่ง ประกอบกับทางฟีฟ่าอยากให้ไทยมีสนามเป็นอนุสรณ์และได้ใช้ประโยชน์ต่อไป

และในเดือน ต.ค.ปี 2553 ทาง กทม. และสมาคมฟุตบอลฯ จึงได้ศึกษาเพื่อคัดเลือกที่ดินที่เหมาะสม เหลือ 2 แห่ง ได้แก่ 1.พื้นที่บริเวณมักกะสัน ในเขตพื้นที่สถานีรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์ ของ รฟท. และ 2.พื้นที่บริเวณสถาบันพัฒนาข้าราชการกรุงเทพมหานคร เขตหนองจอก โดยหลังจากใช้เวลาสำรวจข้อดี-ข้อเสีย ในที่สุด เดือน พ.ย.ปี 2553 ครม.ก็มีมติให้ใช้ที่ดินย่านหนองจอกเป็นที่สร้างสนามรองรับการแข่งขันฟุตซอลโลก 2012 หลังจากมีการอนุมัติให้มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี เป็นผู้ออกแบบสนาม และคาดว่าทุกอย่างจะพร้อมก่อสร้างอย่างเป็นทางการ ในช่วงกลางปี 2554

ข้อสังเกต....อันที่จริงแล้ว เสียงส่วนใหญ่ ต้องการให้สร้างสนามบนที่ ของ รฟท. เพราะมีสิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน แต่ติดปัญหาตรงที่ กทม. ไม่มีอำนาจ หรือแม้กระทั่ง มีข่าวว่า อสมท เสนอที่ดินแถวรัชดาฯ ให้กทม.สร้างสนามฟุตซอลในบริเวณดังกล่าวนั้น แต่มีข้อจำกัดเนื่องจากไม่ใช่พื้นที่ของ กทม. รวมทั้งติดขัดข้อกฎหมาย เช่น กฎกระทรวงเรื่องของความสูง หรือ พ.ร.บ.การผังเมืองฯ เป็นต้น ท่ามกลางข้อครหาที่ว่า นายวรวีร์ มะกูดี นายกสมาคมฟุตบอลฯ เป็นคนดึงดันให้มาสร้างที่หนองจอก เพราะต้องการอัพเกรดราคาที่ดินของตัวเอง ซึ่งมีอยู่ในย่านนั้น

ส่วนกรณีที่หลายคนสงสัยว่าเหตุใดเราถึงไม่ใช้อิมแพค อารีนา เมืองทองธานี ซึ่งมีความจุราว 12,000 ที่นั่ง เป็นสนามเมนสเตเดียมแทน เกี่ยวกับเรื่องนี้ ฟีฟ่าได้มาสำรวจพื้นที่ที่อิมแพค อารีน่าแล้ว แต่พบว่าไม่ผ่านเกณฑ์ เนื่องจากเห็นว่าเหมาะสำหรับการแสดงคอนเสิร์ตมากกว่า และทำให้การก่อสร้าง แบงค็อก ฟุตซอล อารีนา คงเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้แล้ว

แล้วคำถามที่ว่าทำไมเราถึงปล่อยให้เวลาล่วงเลยมานานกว่า 6 เดือน ตั้งแต่ได้รับหน้าเสื่อเจ้าภาพเดือน มี.ค. กว่าจะเริ่มดำเนินการได้นั้น ทั้งนี้ ต้องไม่ลืมว่าในปีนั้นการเมืองในบ้านเรากำลังอยู่ในช่วงคุกรุ่น ระหว่างคนสองสี จนกระทั่งเกิดเหตุการสลายการชุมนุมที่แยกราชประสงค์ ใน กทม. เดือน พ.ค. ซึ่งกว่าจะฟื้นฟูให้บ้านเมืองกลับสู่ภาวะสงบเป็นปกติ ก็ต้องใช้เวลากันพอสมควร นโยบายการบริหารประเทศต่างๆ ถึงจะขับเคลื่อนเดินหน้าต่อไปได้

จากนั้นเหลือเวลาอีก 22 เดือน เมื่อเข้าสู่ปี 2554

ก่อนต้องส่งมอบสนามแห่งนี้ให้กับฟีฟ่าตามกำหนด ในเดือน ต.ค.ปี 2555 ดูแล้วก็น่าจะมีเวลาถมถืด สำหรับการก่อสร้างฯ ที่คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 500 วัน หรือประมาณ 1 ปีครึ่ง แต่แล้วแผนการทุกอย่างก็มีอันต้องล่าช้าออกไปอีก เพราะกว่าจะได้รับงบประมาณ 1,239 ล้านบาท จาก ครม. ก็ปาเข้าไปเดือน พ.ค. ก่อนเปิดประมูลประกวดราคาก่อสร้าง ในเดือน มิ.ย. ตามลำดับ ท่ามกลางการเปลี่ยนผ่านจากรัฐบาลอภิสิทธิ์ สู่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่ได้รับการแต่งตั้งเป็นนายกฯ คนใหม่ ในเดือน ส.ค. หลังจากพรรคเพื่อไทย ชนะการเลือกตั้ง ในเดือน ก.ค.

แต่ยังไม่ทันจะตอกเสาเข็ม เคราะห์ก็ซ้ำกรรมก็ซัด เมื่อประเทศไทยเกิดเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ "มหาอุทกภัย" ในช่วงกลางปี 2554 รวมถึงในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ส่งผลให้แผนงานต่างๆ ที่เคยวางไว้ พังทลายไปกับสายน้ำ เพราะงานก่อสร้างหยุดชะงักไปหลายเดือน ก่อนจะมาเดินหน้ากันต่ออีกครั้ง หลังน้ำลดช่วงต้นปี 2555 ถึงขนาดในเดือน ธ.ค. ผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมบางท่านออกมารับสภาพว่า สนามฟุตซอลหนองจอกยังไงก็เสร็จไม่ทันศึกชิงแชมป์โลกแน่นอน

 
แต่ กทม. นำโดย ผู้ว่าฯ สุขุมพันธุ์กลัวที่ไหน ยังคงสั่งเดินเกียร์หน้าเต็มพิกัด ในเดือนม.ค.ปี 2555

โดยทำพิธีลงนามเซ็นสัญญาจ้างเหมาก่อสร้างสนามหนองจอก ร่วมกับบริษัท อีเอ็มซี จำกัด (มหาชน) พร้อมเร่งรัดปรับแผนการก่อสร้าง จากเดิม 500 วัน เหลือ 250 วัน ด้วยการทำงานหามรุ่งหามค่ำตลอด 24 ชั่วโมง ก่อนที่จะสร้างความมั่นใจเพิ่มเติม ด้วยการแถลงข่าว เปิดตัว โลโก้ และมาสคอตประจำการแข่งขัน รวมถึงประกาศชื่อสนามที่ยังสร้างไม่เสร็จอย่างเป็นทางการว่า "บางกอกฟุตซอลอารีนา" (Bangkok Futsal Arena) ในเดือน มี.ค.

ในขณะที่ทุกอย่างจะดำเนินการไปตามแผน (ฉบับไฟล้นก้น) ซึ่งในเดือน มิ.ย. มีรายงานว่า งานก่อสร้างได้คืบหน้าไปแล้ว 40 เปอร์เซ็นต์ (เร็วเหมือนโกหก) แต่ในช่วงกลางปี 2555 ประเทศไทยก็ต้องประสบปัญหาฝนตกหนักต่อเนื่อง และยาวนาน ติดต่อกันหลายเดือน จนส่งผลกระทบต่อการก่อสร้างสนาม หนองจอกล่าช้ามากขึ้นไปอีก ยิ่งไปกว่านั้น ในเดือน พ.ค. กทม.ออกมาฟ้องอีกว่า ทางกรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง ไม่อนุมัติเงิน งวดที่ 3 จำนวน 116 ล้านบาท ให้ทาง กทม. สำหรับการสร้างสนามฟุตซอล ทั้งที่ๆ สำนักงบประมาณแผ่นดินยืนยันว่าได้จ่ายให้ครบไปหมดแล้ว

 
"เดอะโชว์มัสโก (สะ) ออน"

โดยที่ช่วงที่เหลือเวลาอีกไม่กี่เดือน กทม., สมาคมฟุตบอลฯ และคณะกรรมการฝ่ายจัดการแข่งขัน ก็ช่วยกันเฮโลประชาสัมพันธ์โปรโมตทัวร์นาเมนต์กันอย่างเต็มที่ กลบเกลื่อนกระแสความความกังวล สนามหนองจอกสร้างไม่เสร็จ โดยเฉพาะ กมธ.ส.ว.กีฬา ที่เข้ามาไล่บี้ในช่วงโค้งสุดท้าย พร้อมประณามว่า ทำให้ "ประเทศชาติเสียหาย"

แต่ดูเหมือนฝั่งของ กทม. ก็ยังยืนยันกัดฟันมาตลอดว่า "เสร็จแน่" ขณะที่สมาคมฟุตบอลฯ ทำเหมือนลอยตัวเหนือปัญหา ไม่ได้วิตกอะไร แถมยังออกตัวก่อนเลยว่า ต่อให้ไม่เสร็จ ก็ยังมีแผนสำรองอยู่แล้ว ซึ่งก็ได้ใช้สมใจ เพราะหลังจาก ฟีฟ่า ได้เดินทางมาตรวจสนามล่าสุด ในเดือน ต.ค. พวกเขาก็ใช้เวลาไม่นาน ประกาศยกเลิกการใช้สนามแบงค็อก ฟุตซอล อารีนา และยกโปรแกรมไปที่ อินดอร์ สเตเดียม หัวหมาก ที่พร้อมกว่า เช่นเดียวกับสนามอื่นๆ อย่าง อาคารนิมิตรบุตร และสนามโคราช ชาติชาย ฮอลล์ ที่ จ.นครราชสีมา

ข้อสังเกต...จะเห็นว่า ช่วงระยะเวลาปีกว่าๆ งานมากกว่าครึ่งตกเป็นภาระของ กทม. ขณะที่ สมาคมฟุตบอลฯ ที่เป็นผู้เสนอไอเดีย กับคณะกรรมการฝ่ายจัดการแข่งขันฯ กลับไม่ได้มีบทบาทอะไรชัดเจน เช่นเดียวกับกระทรวงการท่องเที่ยวฯ หรือแม้กระทั่งการกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) ที่มีหน้าที่หลักในการดูแลด้านกีฬาของประเทศแท้ๆ

ซึ่งเรื่องนี้ ทาง กมธ.ส.ว.กีฬา ก็ได้ตั้งข้อสังเกตว่า อาจเป็นเพราะปัญหาในการประสานงานระหว่างหน่วยงานต่างๆ โดยคณะกรรมการจัดการแข่งขัน แทนที่จะมาจากกระทรวงการท่องเที่ยวฯ เป็นผู้แต่งตั้ง แต่กลับมาจาก นายกสมาคมฟุตบอลฯ ทำให้ดูเหมือนมีอำนาจมากที่สุด แต่สุดท้ายแล้ว ไม่ได้ทำอะไรไปมากกว่าการเตรียมพร้อมนักกีฬา ซึ่งที่ผ่านมาก็แทบจะเอาตัวไม่รอดอยู่แล้ว ขณะที่กรรมการจัดการแข่งขันแต่ละท่านก็ล้วนแต่เป็นผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมือง ทำให้เป็นเรื่องยากที่จะมีเวลาหารือกัน

 

และเหลือเพียงโอกาสสุดท้าย ในวันที่ 25 ต.ค.นี้

ที่ผู้ว่าฯ คนเก่งของเราซึ่งน่าเห็นใจ เพราะต้องเจอศึกสองด้าน งานเข้าทั้งฟุตซอล และน้ำท่วมขัง กทม. จะต้องนั่งลุ้นภาวนากันตัวเกร็ง แต่ไม่ว่าสนามแห่งนี้จะเสร็จทันหรือไม่ ภาพที่เราคงพอจินตนาการในหัวได้ตอนนี้ ก็คือต่อให้งานเสร็จ แต่คงออกมาแบบ "ดิบๆ" อีกทั้งในเรื่องของความปลอดภัย ก็คงเป็นสิ่งที่หลายคนตั้งคำถามถึงเช่นกัน

นี่ยังไม่รวมถึงเรื่อง "การประชาสัมพันธ์" ที่อ่อนมาก จนคนไทยหลายคนยังไม่รู้เลยว่า เมืองไทยจะเป็นเจ้าภาพฟุตซอลโลกแล้ว (อันนี้ไม่นับได้ออกทีวีบ่อยในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา เพราะเรื่องสนามหนองจอกไม่เสร็จ....และหวังว่า มันคงไม่ใช่ส่วนหนึ่งในแผนพีอาร์ของ กทม.ปลุกกระแสในช่วงโค้งสุดท้าย)

และทั้งหมดนี้ ก็คือเหตุการณ์เรื่องราวต่างๆ ที่เกิดขึ้น นับตั้งแต่ไทยได้รับความไว้วางใจให้เป็นเจ้าภาพ ซึ่งสรุปแล้ว ช่วงระยะเวลา 2 ปีกว่าที่ฟีฟ่าเหลือไว้ให้ก็น่าจะพอ ในการก่อสร้างสนามหนองจอก ที่กินเวลาปกติ 1 ปีครึ่ง ส่วนอีก 1 ปีที่หายไป คงต้องโทษการบริหารจัดการ ในขั้นตอนต่างๆ ที่ล่าช้า ซึ่งอาจเป็นเพราะสถานการณ์บ้านเมืองที่ยังไม่นิ่ง แบ่งฝักแบ่งฝ่าย ในขณะนั้น หนำซ้ำยังเกิดภัยพิบัติครั้งใหญ่ ผสมโรงเข้ามาอีก ก็เลยกลายเป็นมหกรรม "โยนขี้" กันสนุก

แม้ยังมีบางคนอุตส่าห์มองโลกในแง่ดีว่า ไม่ช้าหรือเร็วสนามแห่งนี้ก็จะเสร็จและส่งมอบให้ฟีฟ่าแน่นอน และสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ถึงชั่วลูกชั่วหลาน ไม่เหมือนกับซากปรักหักพังของโครงการโฮปเวลล์

แต่ท่านผู้นั้นลืมไปหรือเปล่าว่า งบประมาณมหาศาลนี้ อาจต้องไปเบียดบัง ใช้กำลังภายในมาจากกระทรวงฯ, หน่วยงานอื่นๆ ที่มีความจำเป็นต้องใช้เร่งด่วนก็เป็นได้ และภายใต้ภารกิจที่ต้องตอบแทนมาซึ่ง "ชื่อเสียง" ของประเทศ นั่นคือการสร้างให้เสร็จทันกำหนด พร้อมเปิดใช้งานได้ตามแผน มันเป็นไปตามเงื่อนไขหรือ?

จึงไม่แปลก หากหลังจากนี้ "แบงค็อก ฟุตซอล อารีนา" แทนที่จะเป็นสนามที่ได้รับการบันทึกในฐานะประวัติศาสตร์กีฬาอันภาคภูมิอีกหน้าหนึ่งของเรา แต่จะกลายเป็น "รอยอัปยศ" ที่คงไม่มีใครอยากจดจำ เพราะมัน "ขายขี้หน้า" เค้า...!!!

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

TOP 5 ข่าวในรอบ 3 วัน

อัลบั้มภาพเด็ดๆ

More »

คลิปไฮไลท์

More »