ผลคะแนนและราคา 2 in 1 คะแนนในการแข่งสด ผลการแข่งขัน ตารางการแข่งขัน อัตราต่อรอง ข้อมูล คะแนนบาสเก็ตบอล
ฟุตบอล » ฟุตบอลไทย » 'สุขุมพันธุ์'ยัน สนามฟุตซอล Bangkok Futsal Arena ได้มาตรฐาน

'สุขุมพันธุ์'ยัน สนามฟุตซอล Bangkok Futsal Arena ได้มาตรฐาน

Posted 08/11/2012 by ไทยรัฐ

 

ผู้ว่าฯ "สุขุมพันธุ์" แถลงความจริง สนามฟุตซอล Bangkok Futsal Arena ยัน แข็งแรง ปลอดภัย ได้มาตรฐาน ระบุ ไม่เข้าใจมาตรฐานการอพยพคนของฟีฟ่าต้องใช้หลักเกณฑ์ใด

วันที่ 7 พ.ย. ที่สนามฟุตซอล บางกอก อารีนา หนองจอก ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นำคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร แถลงข้อเท็จจริงกรณีที่สมาคมสหพันธ์ฟุตบอลระหว่างชาติ (FIFA) ประกาศไม่รับรองให้สนาม Bangkok Futsal Arena เป็นสนามแข่งขันฟุตซอลชิงแชมป์โลก พ.ศ.2555

โดย ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ กล่าวว่า ทาง กทม. ยังไม่ได้รับแจ้งผลการตัดสินจาก FIFA อย่างเป็นทางการ แต่ทราบข่าวผ่านทางสื่อมวลชน ซึ่งมีคาดการณ์ 2 ประเด็นหลักที่ทำให้ FIFA ไม่ใช่สนามหนองจอกเป็นที่แข่งขัน คือ เรื่องความล่าช้าของการก่อสร้าง และความปลอดภัยของสนาม แต่สามารถชี้แจงข้อเท็จจริงทั้งหมดให้ประชาชนรับทราบและพิจารณา

แจงข้อเท็จจริงกรณีความล่าช้า

ผู้ว่าฯ กทม.กล่าวว่า กทม.ได้ก่อสร้างสนาม Bangkok Futsal Arena ขึ้นตามข้อเรียกร้องจาก FIFA แม้ไม่ได้อยู่ในเงื่อนไขเดิม ที่อนุมัติให้ไทยเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันฟุตซอลชิงแชมป์โลก เป็นอาคารขนาดใหญ่ครอบคลุมพื้นที่ 10 ไร่ มีพื้นที่ใช้สอย 30,000 ตารางเมตร จุผู้ชมได้ถึง 12,000 คน ซึ่งปกติจะต้องใช้เวลาในการก่อสร้าง 500 วัน และกำหนดแล้วเสร็จสมบูรณ์ในเดือน เม.ย.56 แต่ กทม.ได้ขอให้บริษัทผู้รับจ้างเร่งรัดการก่อสร้างให้สามารถใช้สนามแข่งขันได้ตามข้อกำหนดของ FIFA ภายในเวลา 270 วัน

หากนับตั้งแต่วันที่วางศิลาฤกษ์ จนถึงเที่ยงคืนวันที่ 6 พฤศจิกายน 2555 ใช้เวลา 286 วัน ล่าช้าเพียง 16 วัน ซึ่งมิใช่เรื่องผิดปกติสำหรับอาคารขนาดใหญ่

ทั้งนี้ จากปัญหาหลักเรื่องพื้นสนามและงานเพิ่มเติม นอกเหนือจากแบบจะเห็นได้ว่างานแล้วเสร็จก่อนกำหนดการแข่งขันถึง 1 สัปดาห์ โดยช่วงเวลาดังกล่าว ยังสามารถดำเนินการทดสอบระบบต่างๆ ได้ เหมือนอาคารอื่นๆ ทั่วๆ ไป

ทั้งนี้ ทาง กทม.ได้ร่วมมือกับ FIFA ในทุกกรณี โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องพื้นสนามที่พบปัญหาข้อเท็จจริงที่ว่า พื้นสนามแข่งขันที่กรุงเทพมหานครสั่งซื้อผ่านผู้รับเหมาได้ถึงประเทศไทยตั้งแต่วันที่ 20 ตุลาคม 2555

โดยกรุงเทพมหานครได้รับสำเนาหนังสือเรียกเก็บเงินจากผู้ผลิต มีข้อเท็จจริงที่ว่า พื้นไม้ดังกล่าวได้ถูกจัดส่งไปสนามอื่น ซึ่งอยู่ระหว่างรอการตรวจสอบอยู่ในขณะนี้ และที่สุดเมื่อกรุงเทพมหานครได้ตัดสินใจแก้ปัญหา สั่งไม้จากมาเลเซีย และไต้หวัน ซึ่งส่งถึงไทยในวันที่ 30 ตุลาคม 2555 ทาง FIFA ได้ขอให้กรุงเทพมหานครสั่งไม้จากอิตาลีเพิ่มเติม

โดยกรุงเทพมหานครได้ดำเนินการตามคำแนะนำของ FIFA และพื้นสนามได้ส่งถึงกรุงเทพมหานครในวันที่ 4 พฤศจิกายน 2555 ในขณะที่ FIFA ได้แจ้งยืนยันให้รอพื้นไม้จากอเมริกา โดย FIFA ได้มีการประสานตรงกับตัวแทนจำหน่าย ซึ่งกรุงเทพมหานครไม่สามารถติดต่อได้มาเป็นเวลาหลายวันก่อนหน้านี้ และผู้รับเหมาได้ส่งหนังสือให้กรุงเทพมหานคร ตรวจรับพื้นไม้ของอเมริกาในวันที่ 4 พฤศจิกายน 2555 เวลา 10.00 น.

กรุงเทพมหานครได้เร่งให้ที่ปรึกษาตรวจรับพร้อมคณะกรรมการตรวจการจ้างตามระเบียบพัสดุ ตรวจสอบแล้วเสร็จเวลา 11.00 น. โดยให้ดำเนินการติดตั้งตามหนังสือ FIFA ที่ให้รอพื้นจากอเมริกา ทำให้ในวันตรวจครั้งสุดท้าย 5 พฤศจิกายน 2555 พื้นสนามอยู่ในสภาพเกือบสมบูรณ์ 100%

กทม. ยันความแข็งแรงและความปลอดภัยได้มาตรฐาน

ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า ประเด็นเรื่องความปลอดภัยด้านความแข็งแรงของอาคารและความปลอดภัยของผู้ใช้สนามในการอพยพคนในกรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน ทาง FIFA ได้ส่งหนังสือร้องขอเอกสารจากกรุงเทพมหานคร 6 รายการ ซึ่งทางกรุงเทพมหานครได้จัดส่งเอกสารทั้งหมดมอบให้ FIFA ในวันที่ 5 พฤศจิกายน 2555 ที่ผ่านมา

ซึ่งในจำนวนนี้รวมถึงหนังสือรับรองจากวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ จำนวน 2 ฉบับ ลงวันที่ 2 พฤศจิกายน 2555 และ 5 พฤศจิกายน 2555 อย่างไรก็ดี มีการสั่งงานด้านความปลอดภัยเพิ่มเติม นอกเหนือจากแบบที่กรุงเทพมหานครจัดส่งให้คณะกรรมการจัดการแข่งขัน (LOC) และทาง FIFA ได้รับแบบก่อสร้างมานานแล้ว แต่ได้มีการสั่งเพิ่มเติมงาน นอกเหนือจากแบบก่อสร้างจำนวน 4 รายการ ระหว่างวันที่ 18 ตุลาคม 2555 ถึง 5 พฤศจิกายน 2555 ก่อนที่จะประกาศไม่ใช้สนามแข่งขันในวันที่ 6 พฤศจิกายน 2555 โดยอ้างเหตุผลเรื่องความปลอดภัยตามมาตรฐานของ FIFA

โดยลำดับเหตุการณ์ตั้งแต่วันที่ 18 ตุลาคม 2555 FIFA สั่งให้กรุงเทพมหานครจัดสร้างบันไดหนีไฟใต้อัฒจันทร์ชั้นล่าง จำนวน 12 จุด ซึ่งดำเนินการแล้วเสร็จ ก่อนการตรวจในวันที่ 29 ตุลาคม 2555 ต่อมาในวันที่ 3 พฤศจิกายน 2555 มีการสั่งการให้เจาะกำแพงคอนกรีตเสริมเหล็กเหนืออัฒจันทร์ชั้นล่าง ในระดับพื้นชั้น 2 จำนวน 4 จุด และให้จัดสร้างทางขึ้นลงหนีไฟ ให้แล้วเสร็จในวันที่ 5 พฤศจิกายน 2555  ซึ่งในวันตรวจสอบครั้งสุดท้าย งานคืบหน้าไปกว่า 95% เหลือเพียงงานเก็บความเรียบร้อยผนังเบาขอบทางลงบางจุดเท่านั้น

จากนั้นในวันที่ 5 พฤศจิกายน 2555 ได้มีการสั่งให้เพิ่มงานบันไดหนีไฟ บริเวณใต้อัฒจันทร์ชั้นล่างอีก 4 จุด และวันที่ 5 พฤศจิกายน 2555 ได้สั่งเพิ่มราวกันตก บริเวณขอบทางเดินด้านระหว่าง Pylon 3 และ Pylon 2 โดยงานทั้ง 4 รายการ ไม่อยู่ในแบบก่อสร้างตั้งแต่แรก แต่กรุงเทพมหานครก็ได้เร่งดำเนินการให้

ทั้งนี้ ในวันที่ 5 พฤศจิกายน 2555 ทางวิศวกรความปลอดภัยของ FIFA ได้ร้องขอให้กรุงเทพมหานคร จัดทดสอบอพยพคนจำนวน 650 คน ในเวลา 13.30 น. ซึ่งทางกรุงเทพมหานครได้ระดมคนงานขึ้นทดสอบอัฒจันทร์พร้อมอพยพคนโดยใช้เวลาเพียง 3 นาที 40 วินาที ซึ่งสามารถดำเนินการได้ดีกว่าเกณฑ์มาตรฐาน ที่คำนวณเวลาในการอพยพคนไว้ 5 นาที 47 วินาที

ทั้งนี้วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้ตรวจสอบรับรองรายการคำนวณดังกล่าวถูกต้องตามเกณฑ์ กรุงเทพมหานครจึงไม่เข้าใจว่า มาตรฐานการอพยพคนที่ FIFA เป็นห่วงหมายถึงมาตรฐานใด

สำหรับประเด็นการประกันภัย กรุงเทพมหานครได้แจ้งยืนยันเงื่อนไขการประกันภัย โดยนโยบายรับประกันทุกความเสี่ยงจากบริษัท อาคเนย์ ประกันภัย จำกัด (มหาชน) แจ้งต่อ FIFA เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2555

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

TOP 5 ข่าวในรอบ 3 วัน

อัลบั้มภาพเด็ดๆ

More »

คลิปไฮไลท์

More »