ผลคะแนนและราคา 2 in 1 คะแนนในการแข่งสด ผลการแข่งขัน ตารางการแข่งขัน อัตราต่อรอง ข้อมูล คะแนนบาสเก็ตบอล
ฟุตบอล » ฟุตบอลไทย » โหวตรับกฎใหม่72เสียงตามฟีฟ่ากลับไปหารือให้ชัดเจนภายใน2สัปดาห์

โหวตรับกฎใหม่72เสียงตามฟีฟ่ากลับไปหารือให้ชัดเจนภายใน2สัปดาห์

Posted 11/08/2013 by siamsport

 

 

      สมาชิกสโมสรมีมติเห็นชอบร่างธรรมนูญใหม่โหวตให้ผ่าน มีแค่ 2 เสียง ที่ไม่เห็นด้วย แม้ว่าจะยอมรับร่าง แต่ที่ประชุมได้สงวนสิทธิ์ข้อ 21 เรื่องที่มาของ 72 เสียงเอาไว้ก่อน หลังฝ่ายค้านขอเวลา 2 สัปดาห์ โดยทุกฝ่ายยืนยันไม่มีการเพิ่มจำนวนเสียงอีกแล้วยังคงไว้ 72 เสียงที่จะใช้ในการเลือกตั้ง ซึ่งประเด็นที่เห็นไม่ตรงกันก็คือที่มาของตัวแทนจากลีกภูมิภาคทั้ง 6 ภาคจำนวน 30 เสียงที่ต้องการหารือถึงการได้มาให้ชัดเจนขึ้น ''บังยี'' ยินดีร่วมหารือด้วย มั่นใจเลือกตั้งได้ไม่เกิน 30 ก.ย. ตามกรอบของฟีฟ่า



         กระบวนการเลือกตั้งนายกสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เดินเข้าสู่ช่วงเวลาสำคัญอีกครั้ง เมื่อวันที่ 9 ส.ค. 56 ที่ผ่านมา  เวลา 11.00 น.ที่ห้องประชุมภายในศูนย์ฝึกฟุตบอลแห่งชาติ หนองจอก ได้มีการประชุมใหญ่พิเศษมีวาระสำคัญคือการโหวตรับร่างธรรมนูญฉบับใหม่ตาม มาตรฐานฟีฟ่า

 
         โดยจะต้องได้เสียงของสมาชิก 2 ใน 3 เสียงขึ้นไปจึงจะถือว่าผ่านและนำไปจดทะเบียนกับกรมการปกครองเพื่อใช้เลือก ตั้งนายกสมาคมฟุตบอลฯ ต่อไป ท่ามกลางการลุ้นระทึกของผู้คนในวงการและแฟนบอลทั่วไป เนื่องจากสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ หรือ ฟีฟ่า มีคำสั่งว่าธรรมนูญใหม่จะต้องรับการลงมติเสียก่อนจึงจะทำการเลือกตั้งได้ ไม่เช่นนั้นจะโดนโทษแบนจากฟีฟ่า
    
      

จัดกำลังเจ้าหน้าที่ดูแลเข้มงวด

 
         สมาคมฟุตบอลฯ ได้มีหนังสือเชิญสโมสรสมาชิกจำนวน 182 ทีมเข้าร่วมประชุมใหญ่พิเศษเพื่อลงมติรับร่างข้อบังคับหรือธรรมนูญฉบับใหม่ เป็นครั้งที่สอง หลังจากครั้งแรกเมื่อวันที่ 15 มิ.ย. ไม่สามารถจัดการประชุมได้เนื่องจากมีสโมสรไปร้องต่อศาล สำหรับการจัดประชุมครั้งนี้สมาคมฟุตบอลฯ ได้มีมาตรการเข้มงวดของผู้ที่จะเดินทางมาร่วมประชุมอย่างมาก

 
         ด้วยการจัดเจ้าหน้าที่ตำรวจจาก บก.น.3 จำนวน 150 คน พร้อมกับตั้งด่านตั้งแต่ปากทางเข้าสู่อาคารการประชุมบริเวณสนามฟุตบอลบีอีซี เทโรศาสน  ด้วยการตรวจดูเอกสารว่า สมาชิกที่เดินทางมีใบมอบอำนาจที่ออกโดยสมาคมฟุตบอลฯ หรือไม่  ถ้าถูกต้องก็จะปล่อยเข้าสู่ด้านใน แต่ถ้าไม่มีหรือว่านำใบมอบอำนาจที่ทำขึ้นมาเองก็จะไม่อนุญาตให้เข้า ส่งผลให้รถติดเป็นทางยาวไปจนถึงปากซอยมิตรไมตรี  16/6 
    
      

"บิ๊กก๊อง"นำสมาชิกมาถึงแต่โดนกัก

 
         เวลา 10.30 น.ทางด้าน "บิ๊กก๊อง" วิรัช ชาญพานิชย์ ผู้ลงสมัครชิงตำแหน่งได้เดินทางมาถึง พร้อมด้วย "เสี่ยนพ" อรรณพ สิงห์โตทอง รองประธานสโมสร ชลบุรี เอฟซี  พร้อมกับสโมสรสมาชิกกลุ่ม 108 ทีม แต่เมื่อเจอด่านด้านนอกที่ให้เฉพาะสโมสรที่มีใบมอบอำนาจเท่านั้นผ่านเข้า ได้  ก็ทำให้ตัวแทนทีมไม่พอใจ

 
         เนื่องจากมีหลายทีมด้วยกันที่ไม่มีใบมอบอำนาจที่ถูกต้อง ทาง "บิ๊กก๊อง" และ "เสี่ยนพ" จึงต้องลงมาเจรจา ท่ามกลางเสียงโวยวายของสมาชิกที่โดนห้าม แต่ทางเจ้าหน้าที่ก็อ้างว่า ได้รับคำสั่งจึงไม่ยอมให้เข้าเด็ดขาด จนทำให้ "เสี่ยนพ" ขอพบกับจ้าหน้าที่จากการกีฬาแห่งประเทศไทย เพื่อให้มาช่วยตรวจว่า ใบมอบอำนาจใช้ได้หรือไม่ พร้อมกับโทร. ติดต่อหา นายกนกพันธ์ จุลเกษม ผู้ว่าฯ กกท. เพื่อเคลียร์เรื่องนี้  แต่ก็ยังไม่ให้เข้า ทำให้สโมสรที่มีใบมอบอำนาจถูกต้องเดินเข้าไปก่อน ส่วนที่ยังเข้าไม่ได้ก็รอบริเวณด่านตรวจ
    
      

ฟีฟ่าลงทุนเดินเท้าเข้าร่วมประชุม

 
         เวลา 10.45 น. ทางผู้แทนจากฟีฟ่า  มร.เธียร์รี่ รีเกอร์เนส ผู้อำนวยการฝ่ายดูแลและพัฒนาชาติสมาชิกของฟีฟ่า พร้อม มร.เจมส์ จอห์นสัน ผู้จัดการฝ่ายอาวุโสของฟีฟ่า  และผู้แทนจาก เอเอฟซี มร.ซานจิวาล บาลาซิงกัม  รวมถึง "บิ๊กเปี๊ยก" องอาจ ก่อสินค้า เลขาธิการสมาคมฟุตบอลฯ ที่ได้เดินทางมาชี้แจงการปรับใช้ธรรมนูญใหม่

 
         และเข้าร่วมประชุมในครั้งนี้ด้วย ได้เดินทางมาถึงแต่ว่าเจอกับรถติดยาวตรงบริเวณด่าน จึงทำให้ทั้งหมดได้ลงทุนเดินเข้าสู่อาคารการประชุมท่ามกลางแสงแดดร้อนจัดจ้า เป็นระยะทางเกือบ 1 กิโลเมตร จนเหงื่อไหลท่วมตัว
      
      

"เสธ.ตุ้ม"แจงไม่อยากให้วุ่นวาย

 
         ในเรื่องที่สโมสรสมาชิกเกือบ 100 คนติดอยู่ตรงด่านด้านนอก เพราะไม่ได้รับอนุญาตให้เข้า เนื่องจากไม่มีใบมอบอำนาจที่ถูกต้อง จนทำให้เกิดการโวยวาย และทะเลาะกับเจ้าหน้าที่ที่รักษาการในเรื่องนี้ "เสธ.ตุ้ม" พล.ท.ชินเสณ ทองโกมล ประธานผู้ตัดสินชี้แจงกับสื่อว่า เราอนุญาตให้ตัวแทนสโมสร 1 คน กับผู้ติดตามอีก 1 คนที่สามารถเข้ามาได้

 
         แต่สำหรับกองเชียร์ หรือมาติดตามมา ไม่ได้มีหน้าที่อะไรเราต้องห้าม เนื่องจากไม่อยากให้เกิดปัญหาความวุ่นวายที่หน้าห้องการประชุมเหมือนคราวที่ แล้ว จึงอยากให้เคลียร์ผู้ที่เข้าประชุมได้เท่านั้นที่มีสิทธิ์
    
      

ฟีฟ่าเรียกฝ่ายค้านหารือร่วม 2 ชม.

 
         กำหนดการประชุมใหญ่พิเศษที่จะเริ่มในเวลา 11.00 น. ยังไม่สามารถที่จะเริ่มประชุมได้ เพราะสโมสรที่เข้าไม่ได้ยังคงออกมาโวยวาย จากนั้นเวลา 11.25 น. ทาง รวมทั้ง มร.เธียร์รี่ รีเกอร์เนส ผู้อำนวยการฝ่ายดูแลและพัฒนาชาติสมาชิกของฟีฟ่า พร้อม เจมส์ จอห์นสัน ผู้จัดการฝ่ายอาวุโสของฟีฟ่า

 
          ได้เชิญกลุ่มฝ่ายต่อต้านธรรมนูญใหม่ประกอยด้วย วิรัช ชาญพานิชย์, อรรณพ สิงห์โตทอง, พินิจ งามพริ้ง และอดิศักดิ์ เบ็ญจศิริวรรณ เข้าพูดคุยเป็นการภายในที่ห้องประชุมชั้น 3  ท่ามกลางความสนใจของสื่อมวลชนที่เดินทางมากันนับร้อยชีวิตว่าจะปรึกษาเรื่อง อะไร  ซึ่งการหารือระหว่างฟีฟ่ากับกลุ่มค้านธรรมนูญใหม่ใช้เวลานานกว่า 2 ชั่วโมงครึ่งเลยทีเดียว

      

แฉต่อรองเรื่องจำนวนสิทธิ์

 
         จากการที่ผู้แทนฟีฟ่า ได้เรียกกลุ่มฝ่ายค้านเข้าหารือเป็นการเฉพาะ มีรายงานว่า เธียร์รี่ รีเกอร์เนส ได้อธิบายถึงที่มาของธรรมนูญและชี้แจงถึงความจำเป็นว่าสโมสรสมาชิกจะต้องมี มติรับร่างใหม่เท่านั้น ไม่เช่นนั้นฟีฟ่าจะลงโทษแน่นอน ในการนี้ทางฝ่ายค้านได้สอบถามในหลายประเด็น และซักอย่างละเอียด

 
         แต่ฟีฟ่าก็ตอบในทุกประเด็น และยืนยันว่าจะต้องรับรองมติให้ผ่านเท่านั้น จนในช่วงท้ายก็ได้เสนอขอให้สโมสรสมาชิกที่ไม่ได้มีใบมอบอำนาจจากสมาคม ฟุตบอลฯ สามารถเข้าร่วมประชุมได้ ฝ่ายต่อต้านยอมรับในหลักการ แต่ติดใจในข้อ 21 คือจำนวนสิทธิ์ 72 เสียงที่เสนอขอให้ปรับตัวเลขใหม่ ทั้งนี้ฟีฟ่าก็อธิบายว่าได้ศึกษาระบบฟุตบอลมาแล้ว จำนวนสิทธิ์จะอยู่ระหว่าง 60-90 เสียงเท่านั้น คงปรับลำบาก แต่ยังไงก็ให้หารือในที่ประชุม
    
      

198 เสียงเข้าสู่ห้องประชุม

 
         กระทั่งเวลา 14.10 น. ซึ่งช้ากว่ากำหนดการประชุมเดิมถึง 3 ชั่วโมง ทางด้าน "บังยี" วรวีร์ มะกูดี นายกสมาคมฟุตบอลฯ พร้อมสภากรรมการบริหาร, ผู้แทนจากฟีฟ่า และเอเอฟซี และผู้แทนจากการกีฬาแห่งประเทศไทย มิเชล ได้ผลธัญญา ผอ.ฝ่ายกีฬาอาชีพและกีฬามวย, สมพร ไชยสงคราม ผู้อำนวยการกองนิติการ และเจ้าหน้าที่รวม 6 คน ก็เข้ามายังห้องประชุมใหญ่ เพื่อเริ่มการประชุม ซึ่งสโมสรสมาชิกที่ได้ลงชื่อเรียบร้อยในช่วงแรกมีทั้งสิ้น 97 เสียง และสภากรรมการอีก 14 เสียง รวมเป็น 111 เสียง

 
         แต่จากการที่ฟีฟ่าได้ยอมให้สโมสรที่ไม่มีใบมอบอำนาจถูกต้องสามารถเข้าร่วม ได้ตามสิทธิ์ ก็ได้มีตัวแทนสโมสรเหล่านั้นทยอยมาลงชื่อกันอีกถึง 66 เสียง โดยผู้แทนฟีฟ่าและเอเอฟซี รวมถึง เกษม จริยวัฒน์วงศ์ สภากรรมการฝ่ายนายทะเบียน มาช่วยตรวจสอบและอำนวยความสะดวก จนสุดท้ายก็เข้าสู่ห้องประชุมด้านในได้ทั้งหมดรวมเป็น 177 เสียง นอกจากนี้ยังมี 21 เสียงเป็นตัวแทนจากลีกภูมิภาคได้สิทธิ์เข้าร่วมประชุมด้วย ทำให้มีเสียงทั้งหมด 198 เสียง

 
         ทำให้เวลา 15.00 น. สมาชิกเข้าสู่ห้องประชุมกันเรียบร้อยทุกคน แต่ก่อนการประชุม เกษม จริยวัฒน์วงศ์ ที่ดูแลเรื่องทะเบียนรายชื่อได้แจ้งต่อที่ประชุมว่า จากการตรวจสอบปรากฏว่ามี 6 สโมสรที่มีการลงทะเบียนซ้ำซ้อนกัน ในการนี้จึงขอยึดสโมสรที่ใช้ใบมอบอำนาจที่ออกจากสมาคมฯ เป็นหลัก และขอให้ผู้ที่มีชื่อซ้ำซ้อนออกจากที่ประชุม
    
      

"บิ๊กก๊อง"ยืนกรานไม่เห็นด้วย 2 ข้อ

 
         จากนั้นบรรยากาศการประชุมจึงได้เริ่มขึ้นอย่างเป็นทางการ โดยห้ามสื่อมวลชนเข้าไปภายใน ประธานในที่ประชุม "บังยี" ได้เปิดโอกาสให้สมาชิกได้สอบถามในเรื่องธรรมนูญฉบับใหม่อีกครั้ง ก่อนที่จะได้ลงมติ ซึ่ง "บิ๊กก๊อง" วิรัช ชาญพานิชย์ ได้เป็นตัวแทนขึ้นพูดทันทีว่า

 
         "ประเด็นการรับธรรมนูญใหม่เราไม่ได้ต่อต้าน แต่ไม่สามารถยอมรับในข้อบังคับใหม่ด้วยกัน 2 ข้อ คือ ในข้อ 10 ว่าด้วยสิทธิของสโมสร และข้อ 21 จำนวนเสียงที่จะใช้สิทธิ์เลือกตั้งนายกสมาคมฟุตบอลฯ เพราะเราเห็นว่าไม่ถูกต้องตามกฎหมายไทยที่ไปลิดรอนสิทธิ์ของสมาชิก"

 
         ในเรื่องนี้ เธียร์รี่ รีเกอร์เนส ที่เข้าร่วมประชุมด้วยได้ลุกขึ้นมาชี้แจงให้ทราบอีกครั้งถึงที่มาที่ไปของ ธรรมนูญใหม่อย่างละเอียดในทุกประเด็น และยืนยันว่าได้ศึกษาวงการฟุตบอลของไทย ข้อกฎหมายต่างๆ อย่างดี จนได้ร่างข้อบังคับที่มั่นใจว่าเหมาะสมกับประเทศไทย ฟีฟ่าได้ดูแลสมาชิกทุกประเทศให้เกิดการมีธรรมาภิบาลมากขึ้นเพื่อพัฒนาวงการ ฟุตบอลของประเทศตัวเอง ซึ่งวิธีการของการได้มาซึ่งธรรมาภิบาลคิดว่าเป็นความถูกต้อง และสามารถที่จะช่วยให้วงการฟุตบอลของทุกประเทศเกิดการพัฒนา
     
      

ฟีฟ่าบอกเป็นประชาธิปไตยแล้ว

 
         "บิ๊กก๊อง" ยังติดใจในข้อ 21 กับเสียงของสมาชิกที่ถูกกำหนดเพียงแค่ 72 เสียงเท่านั้น โดยจี้ไปยังฟีฟ่าว่า เหตุใดจึงตั้งโมเดลแบบนี้ ไทยลีก 18 เสียง ดิวิชั่น 1 ก็ 18 เสียง แต่ลีกภูมิภาค 30 เสียง ไม่ชัดเจนในเรื่องการสรรหาตัวแทน ตรงนี้ทำไมไม่กำหนดไปเลยด้วยการใช้แรงกิ้งอันดับ 1-5 ของเลกแรกก็น่าจะเหมาะสมกว่า เธียร์รี่ รีเกอร์เนส อธิบายว่า เราคงจะทำอย่างนั้นไม่ได้แน่นอน เพราะเราต้องมีการเลือกตั้งเพื่อหาตัวแทนทั้ง 5 เสียงของแต่ละภูมิภาค ซึ่งหากไม่ทำเช่นนั้นจะไม่ใช่การปฏิบัติแบบประชาธิปไตย

 
         นอกจากนี้ผู้แทนฟีฟ่ายังกล่าวถึงข้อ 10 ในเรื่องสิทธิ์การเป็นสมาชิกของสโมสรต่างๆ ที่ไม่เห็นด้วยว่า ในข้อนี้เราขอยืนยันว่า หลังจากมีการรับธรรมนูญใหม่เรียบร้อยแล้ว ทุกสโมสรทั้งหมดจะกลายเป็นสมาชิกของสมาคมฟุตบอล 2557 ทันที
     
      

ฝ่ายค้านขัดกันเองประเด็นข้อ 21

 
         การชี้แจงของฟีฟ่าทำให้ทาง "บิ๊กก๊อง" ไม่ติดใจกับข้อนี้ แต่ยังไม่ยอมรับในข้อ 21 โดยบอกว่า เรื่องจำนวนเสียงที่มาจากไทยลีก 18 เสียง จากดิวิชั่น 1 อีก 18 เสียง เราพอยอมรับได้ แต่ติดขัดที่เสียงจากภูมิภาค 30 เสียงเท่านั้น ที่ต้องหารือกับสมาชิกก่อน

 
         มาถึงตรงนี้ ทางด้านฝ่ายค้านคนหนึ่งก็ลุกขึ้นโต้แย้งการยอมรับของ "บิ๊กก๊อง" ทันที โดยกล่าวว่า สโมสรสมาชิกจะไม่ขอรับเงื่อนไขในข้อ 21 เหมือนอย่างที่คุณวิรัชได้กล่าว เพราะเราไม่เห็นด้วยกับข้อนี้มาตั้งแต่ต้น และต้องการให้ปรับใหม่หมด ซึ่ง เธียร์รี่ รีเกอร์เนส ยืนยันว่า ทั้งหมดที่ทำมาก็เพื่อเป็นการปรับความสมดุลระหว่างสโมสรอาชีพ

 
         กึ่งอาชีพ และสมัครเล่น ให้ดีที่สุด มันถูกแล้วหรือที่สโมสรไม่ได้เล่นในลีก แข่งปีละครั้งสองครั้งจะมีเสียงเท่ากับสโมสรอาชีพ กฎของเราทำมาก็เพื่อให้ถูกต้องเป็นธรรมาภิบาลอย่างที่สุดแล้ว ในฐานะตัวแทนฟีฟ่าขอย้ำอีกครั้งตรงนี้ว่ายังไงการเลือกตั้งนายกสมาคมฟุตบอล ของไทยจะต้องใช้ธรรมนูญฉบับใหม่เท่านั้น

 
         อนึ่ง จากการที่ฝ่ายค้านมีการสอบถามกับฟีฟ่าอย่างละเอียด ทำให้สโมสรสมาชิกหลายๆ ทีมไม่พอใจ พร้อมกล่าวหาว่าฟีฟ่าชี้แจงไปแล้วตั้งแต่วันก่อน แต่ไม่ยอมไปสอบถาม ทั้งที่เปิดโอกาสให้คุยอย่างเต็มที่ กลับมาสอบถามในวันนี้ ซึ่งจะเป็นการลงมติ และการประชุมก็เสียเวลามาทั้งวันแล้ว

      

ลงมติผ่านมีแค่ 2 เสียงไม่ยอมรับ

 
         จากการที่ผู้แทนฟีฟ่าได้ชี้แจงในประเด็นต่างๆ เสร็จสิ้นลง "บิ๊กก๊อง" ก็ได้กล่าวปิดท้ายว่า ธรรมนูญใหม่เราเห็นด้วยในหลายๆ ข้อ แต่เราขอสงวนสิทธิ์ข้อ 21 ไว้ก่อนเพื่อจะขอหารือกับสโมสรสมาชิกภายใน 2 สัปดาห์ ซึ่งทางด้าน "บังยี" ที่ได้นั่งฟังมาตลอดก็กล่าวว่า สมาคมฟุตบอลฯ ไม่มีปัญหาและยินดีรับฟังข้อเสนอของสโมสรที่จะประชุมกัน

 
         ทั้งนี้ขอให้คิดว่าถ้าจะปรับแก้ไขใหม่ทั้งหมดต้องรับฟังคำแนะนำของฟีฟ่าด้วย ส่วนการสรรหาคณะกรรมการการเลือกตั้ง สามารถที่จะมาหารือกันได้โดยให้เสนอชื่อเข้ามา และสมาคมฟุตบอลฯ ก็จะเสนอชื่อเข้าไป แล้วทำการคัดเลือกต่อไป  

 
         จากนั้นเวลา 16.05 น. ผู้แทนฟีฟ่าได้เสนอควรจะให้มีการโหวตรับรองธรรมนูญ ขณะเดียวกันปฏิกิริยาของสมาชิกในที่ประชุมก็อยากให้ทำการโหวต ซึ่งหลังจากนั้น "บังยี" วรวีร์ มะกูดี ได้สอบถามกับสมาชิกว่า "สโมสรไหนไม่ขอรับรองธรรมนูญใหม่บ้าง"

 
         ก็ปรากฏว่ามีเพียง 2 สโมสรเท่านั้นที่ยกมือไม่เห็นด้วย ส่วนที่เหลือมีมติให้รับร่าง ทำให้การโหวตรับธรรมนูญใหม่ตามมาตรฐานฟีฟ่าสมาชิกส่วนใหญ่ให้การรับรอง เพียงแต่จะสงวนสิทธิ์ขอปรับแก้ไขข้อ 21 ไว้ข้อเดียวเท่านั้น ซึ่งการประชุมในวันนี้ใช้เวลาถึง 5 ชั่วโมงเลยทีเดียว
    
      

"บิ๊กก๊อง" ยันไม่มีเลือกตั้งแน่ 24 ส.ค.

 
         หลังการประชุมที่ยืดเยื้อนานกว่า 5 ชั่วโมง ทาง "บิ๊กก๊อง" ได้เปิดใจต่อสื่อมวลชนว่า ตนได้มีการหารือกับทางฟีฟ่าไปในที่ประชุม ซึ่งยืนยันว่าได้รับธรรมนูญใหม่เกือบทุกข้อ ยกเว้นข้อ 21 ที่ตนกับสโมสรสมาชิกจะขอสงวนสิทธิ์ไว้ เพื่อกลับไปหารือกับสมาชิกอีก 2 สัปดาห์

 
         อย่างไรก็ตามตนยังต้องการให้ 72 เสียงนั้น ในอนาคตควรจะมีเสียงจากตัวแทนฟุตซอลหรือส่วนอื่นๆ ด้วย นอกจากนี้สโมสรสมาชิกทั้งหมดขอยืนยันว่าไม่ได้ขอให้มีการปรับเพิ่มเสียงใน การเลือกตั้งแต่อย่างใด ยังคงเป็น 72 เสียง เพียงแต่ขอคุยในเรื่องที่มาของจำนวนเสียงกันใหม่ รวมทั้งในวันที่ 24 ส.ค. จะไม่มีการเลือกตั้งตามที่มีข่าวหลุดไปก่อนหน้านี้
     
      

"บังยี" ยันยังคงใช้ 72 เสียงต่อไป

 
         ส่วน "บังยี" วรวีร์ มะกูดี เปิดใจหลังจากการประชุมลงมติธรรมนูญใหม่ผ่านไปเรียบร้อยแล้วว่า ในการโหวตครั้งนี้ปรากฏว่ามีเพียงแค่ 2 เสียง ที่ไม่ยอมรับกับธรรมนูญใหม่ แต่ส่วนใหญ่เห็นด้วยกันหมด รวมทั้ง คุณวิรัช ชาญพานิชย์ ที่ก็เห็นด้วยกับธรรมนูญฉบับใหม่ เพียงแต่ว่ามีแค่ข้อเดียวที่ไม่สามารถรับได้ โดยเฉพาะข้อ 21 ที่ให้สิทธิ์กับ 18 ทีม ไทยลีก และ 18 ทีม ดิวิชั่น 1 ทว่าเรื่องของ 30 เสียงที่มาจากภูมิภาค จะได้ขอกลับไปหารือกันอีกครั้ง เรายินดีที่จะไปร่วมประชุมกับพวกเขา หากว่ามีการเชิญเข้ามา

 
         นอกจากนี้ "บังยี" กล่าวต่อว่า เรื่องของการใช้ 72 เสียง เรามองว่าน่าจะเป็นการสมดุลแล้ว เพราะฟีฟ่าได้ยืนยันเจตนารมณ์ที่ชัดเจนมาตลอด และในที่ประชุม คุณวิรัช ชาญพานิชย์ ก็ไม่ได้มีการขอเพิ่มมากกว่า 72 เสียงด้วย คาดว่าจะได้ข้อสรุปก่อนที่จะมีการเลือกตั้งก่อนวันที่ 30 ก.ย. อย่างแน่นอน  
    
      

อรรณพแย้งถ้าคุยไม่รู้เรื่องเลือกตั้งแน่

 ขณะที่ อรรณพ สิงห์โตทอง เผยหลังออกจากห้องประชุมว่า "ที่ประชุมก็มีมติรับร่างธรรมนูญใหม่ทุกข้อยกเว้นข้อที่ 21 ที่เรายังไม่รับข้อนี้ ซึ่งต่อจากนี้เราก็ต้องมาร่วมกันพูดคุยและพิจารณากันอีกครั้งว่าจะเอาอย่าง ไรต่อไป โดยทางฟีฟ่าเองก็ยังไม่ปิดกั้น ให้เวลาอีก 2 สัปดาห์ที่จะพูดคุยกัน โดยไม่ให้กระทบกระเทือนทั้งสองฝ่าย แต่หากภายในวันที่ 24 ส.ค. นี้คุยกันยังไม่จบ ก็จะเดินหน้าทำการเลือกตั้งต่อไป"
     
      

การกีฬาฯ พอใจผลการประชุม

 
         สมพร ไชยสงคราม ผู้อำนวยการกองนิติการ การกีฬาแห่งประเทศไทย ที่เข้าร่วมสังเกตการณ์การประชุมเผยว่า จากการประเมินในเบื้องต้น ค่อนข้างพอใจกับผลการประชุมที่ออกมาในลักษณะเช่นนี้ "ประเมินของการกีฬาฯ เราค่อนข้างพอใจที่ผลออกมาอย่างนี้ ซึ่งตอนแรกคิดว่าจะไม่ออกมาเป็นเช่นนี้ แนวโน้มของการแก้ปัญหาก็เป็นไปในทิศทางที่ดี แต่ทุกฝ่ายก็ต้องมาคุยกันก่อนเพื่อปรึกษาหารือกัน โดยเฉพาะข้อ 21 ของธรรมนูญใหม่ ที่ยังคงเป็นปัญหา"

 
         "กระนั้นผมยังเชื่อว่าปัญหานี้น่าจะอยู่ในกรอบของเวลาที่การกีฬาฯ กำหนดไว้ ที่มีเวลาอีก 2 สัปดาห์ในการหารือกัน การตัดสินก็ต้องขึ้นอยู่กับเหตุและผลของแต่ละฝ่ายด้วย" 
  

 
         นอกจากนี้ นายสมพร ไชยสงคราม ยังกล่าวว่า "หลังจบการประชุมทางเจ้าหน้าที่ของฟีฟ่าที่ได้เดินเข้ามาขอบคุณทางการกีฬา แห่งประเทศไทยถึงความจริงใจในการช่วยกันร่วมแก้ปัญหาของทางสมาคมฟุตบอลฯ ซึ่งทางฟีฟ่าก็พอใจสำหรับการประชุมในวันนี้อย่างมาก"


วรวี ร์ มะกูดี (ซ้าย) นายกสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทย เดินทางร่วมแถลงการประชุมเพื่อลงมติรับรองหรือไม่รับรองข้อบังคับใหม่สมาคม ฟุตบอลฯ ตามธรรมนูญสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติหรือ ฟีฟ่าฉบับใหม่ ณ ศูนย์ฝึกฟุตบอลแห่งชาติ หนองจอก

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

TOP 5 ข่าวในรอบ 3 วัน

อัลบั้มภาพเด็ดๆ

More »

คลิปไฮไลท์

More »