ผลคะแนนและราคา 2 in 1 คะแนนในการแข่งสด ผลการแข่งขัน ตารางการแข่งขัน อัตราต่อรอง ข้อมูล คะแนนบาสเก็ตบอล
ฟุตบอล » เซเรีย อา อิตาลี » RedBird : กลุ่มทุนอเมริกันเจ้าของใหม่ "มิลาน" กับนโยบาย "แค่แชมป์ยังน้อยไป"

RedBird : กลุ่มทุนอเมริกันเจ้าของใหม่ "มิลาน" กับนโยบาย "แค่แชมป์ยังน้อยไป"

Posted 26/07/2022 by Sanook

หลังจากที่คว้าแชมป์กัลโช่ เซเรีย อา ฤดูกาล 2021-22 มาได้สด ๆ ร้อน ๆ เอซี มิลาน ก็ประกาศเปลี่ยนมือเจ้าของทันที โดยกลุ่มบริษัทลงทุนสัญชาติอเมริกัน RedBird Capital Partners ได้เข้ามาซื้อทีมด้วยราคาถึง 1.2 พันล้านยูโร (ราว 44,000 ล้านบาท)

ทว่าหลังจากที่มีการยืนยันเรื่องดังกล่าวกลับเป็นที่กังวลใจของแฟนบอลรอสโซเนรี่ เพราะพวกเขาคิดว่าสโมสรกำลังเดินมาในเส้นทางที่ถูกต้องหลังจากหลงทางมานาน และกลัวว่าเจ้าของคนที่ 4 ในรอบ 5 ปีอาจจะพาทีมถอยหลังกว่าที่เป็นอยู่

RedBird คือใคร ? เอาเงินมากขนาดนั้นมาจากไหน ? พวกเขาเคยทำอะไรมาก่อน ? และมอง เอซี มิลาน ธุรกิจใหม่ของพวกเขาไปในทิศทางไหน ?

 

ติดตามได้ที่ Main Stand

อเมริกันคอนเน็กชั่น

Redbird หรือชื่อเต็ม ๆ ว่า RedBird Capital Partners คือกลุ่มบริษัทลงทุนจากสหรัฐอเมริกา ที่มีหุ้นในกลุ่มทุน Fenway Sports Group ซึ่งเป็นเป็นเจ้าของทีมลิเวอร์พูล ทีมดังแห่งพรีเมียร์ลีก อังกฤษ และทีมเบสบอลดังใน MLB อย่าง บอสตัน เรดซ็อกซ์

การซื้อทีมฟุตบอลในยุโรปไม่ใช่เรื่องใหม่ของกลุ่มทุนอเมริกาอีกแล้ว นับตั้งแต่ช่วงต้นปี 2000s ที่ตระกูลเกลเซอร์ ได้ซื้อหุ้นสโมสร แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด และทำให้นักธุรกิจทั่วโลกได้เห็นแล้วว่าวงการฟุตบอลนั้นมีเงินสะพัดมากมายขนาดไหน

กลุ่ม Redbird เองก็เป็นหนึ่งในกลุ่มที่เห็นศักยภาพของวงการฟุตบอลยุโรป โดยเฉพาะทีมอย่าง เอซี มิลาน ที่กลุ่มทุนเดิมอย่าง Elliott Management เพิ่งบริหารทีมจนสามารถคว้าแชมป์กัลโช่ เซเรีย อา ได้เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2011

การขายหุ้นแทบทั้งหมดที่ Elliott Management ถือครองให้กับ Redbird คือสิ่งที่ทั้งสองฝ่ายตกลงกัน เนื่องจาก Elliott Management เข้ามาบริหารทีมตั้งแต่ปี 2018 ต่อจากนักธุรกิจชาวจีนที่ชื่อว่า หลี่ หยงหง ซึ่งกู้เงินจากบริษัทของพวกเขา และค้างชำระกว่า 300 ล้านยูโร

ย้ำอีกครั้งว่าการเข้ามาบริหาร เอซี มิลาน ของ Elliott Management ไม่ใช่การซื้อหุ้น แต่เป็นการเข้ายึดกิจการจากเจ้าของเดิมที่ไม่สามารถชำระหนี้ได้ ก่อนที่พวกเขาจะทำสำเร็จอย่างงดงามทั้งในและนอกสนาม

"ในวันที่ Elliott Management ได้เข้ามาบริหารเอซี มิลาน ในปี 2018 เราอยากเข้ามาสืบทอดประวัติศาสตร์อันยาวนานของสโมสร แต่ทีมมีปัญหาทางการเงินอย่างร้ายแรงและมีผลงานในสนามที่ย่ำแย่หนักมาก" กอร์ดอน ซิงเกอร์ หนึ่งในหุ้นส่วนใหญ่ของ Elliott Management กล่าว

"เราเข้ามาและได้เปลี่ยนผ่านทีม ๆ นี้สู่บทต่อไปอย่างน่าทึ่ง เราเคารพ ถ่อมตน และภาคภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของครอบครัวมิลานแห่งนี้" หนึ่งในผู้ถือหุ้นของ Elliott Management กล่าว

จากวันที่พวกเขาได้สโมสรมาด้วยเงินราว ๆ 300 ล้านยูโร พวกเขาพยายามประคับประคองตัวเลขในบัญชีไปพร้อม ๆ กับผลงานในสนาม มีการเปลี่ยนทีมบริหารใหม่ แต่งตั้งตำนานนักเตะอย่าง เปาโล มัลดินี่ และ เฟรเดริก มาซซารา อดีตผู้อำนวยการกีฬาของโรม่า เข้ามาดูแลเรื่องการซื้อขายนักเตะในตำแหน่ง ผอ.กีฬา แทนที่ของ เลโอนาร์โด้ ที่นั่งในตำแหน่งนี้ยุค หลี่ หยงหง และเป็นคนที่มีส่วนอย่างมากในการแนะนำให้สโมสรทุ่มเงินมากมายเพื่อนักเตะชื่อดัง อาทิ เลโอนาร์โด้ โบนุชชี่, อังเดร ซิลวา, ริคาร์โด้ โรดริเกซ และอีกหลายคน รวมเป็นเงินเกือบ ๆ 200 ล้านยูโร

ทว่าเมื่อเปลี่ยนมาเป็นยุคของ มัลดินี่ และ มาซซารา วิธีการซื้อตัวของมิลานก็เปลี่ยนไป พวกเขาเน้นไปที่นักเตะอายุน้อยที่มีแววว่าจะเก่งขึ้นและอาจมีราคามากขึ้นในอนาคต อาทิ ราฟาเอล เลเอา, เตโอ แอร์กนองเดซ และ ซานโดร โตนาลี่ ซึ่งนักเตะพวกนี้ ณ ปัจจุบันมีราคาพุ่งกว่าตอนที่มิลานซื้อมาเกิน 2 เท่าทั้งสิ้น

เมื่อหลังบ้านดีในสนามก็ดีตาม มิลาน ได้โค้ชอย่าง สเตฟาโน่ ปิโอลี่ ที่ตอนแรกผลงานไม่ดีนักจนมีข่าวจะโดนเปลี่ยนตัวเอา ราล์ฟ รังนิก เข้ามาแทน แต่สุดท้ายกลุ่ม Elliott Management ก็เชื่อในทีมงานโค้ชและนักเตะ พวกเขาให้โอกาสปิโอลี่คุมทีมต่อไป จนในที่สุดก็สามารถคว้าแชมป์ เซเรีย อา ที่รอคอยมาได้สำเร็จ

เมื่อมีความสำเร็จและในทีมเต็มไปด้วยนักเตะที่มีอนาคต มูลค่าของสโมสรก็เพิ่มขึ้น ดังนั้นก็ได้เวลาที่ Elliott Management ที่เข้ามาดูแลสโมสรในฐานะเจ้าหนี้ จะเวลาส่งต่อมิลานให้กับกลุ่มทุนที่มีงบประมาณมากกว่า และท้ายที่สุด พวกเขาได้ส่งมอบกิจการให้กับเพื่อนร่วมสัญชาติอย่าง Redbird Capital Partners ที่คุยกันมาพักใหญ่ ด้วยมูลค่ากว่า 1,200 ล้านยูโร (44,000 ล้านบาท) เรียกได้ว่าเป็นการส่งต่อสโมสรโดยที่พวกเขาได้กำไรมากกว่าเดิมถึง 3 เท่าเลยทีเดียว

"ผมอยากจะขอบคุณ กอร์ดอน ซิงเกอร์ และทีมงาน Elliott ทั้งหมดสำหรับการทำงานอันยิ่งใหญ่ที่พวกเขาได้ทำในช่วงสี่ปีที่ผ่านมาในการสร้างมิลานขึ้นมาใหม่ และนำมันกลับคืนสู่ตำแหน่งที่ถูกต้องคือบนสุดของเซเรีย อา" เจอร์รี่ คาร์ดินัล ผู้ก่อตั้งและหุ้นส่วนผู้จัดการ RedBird กล่าวหลังจากเทคโอเวอร์สโมสร

ความกังวลเมื่อเปลี่ยนเจ้าของ

แน่นอนว่าเมื่อมีเจ้าของเป็นอเมริกันก็จะมีปัญหาที่ทำให้แฟนบอลต้องกังวลอยู่บ้าง เนื่องจากเจ้าของสัญชาติอเมริกันนั้นมักขึ้นชื่อเรื่องการลงทุนน้อยแต่หวังผลกำไรมาก กล่าวคือทีมอาจจะไม่ได้เห็นการซื้อสตาร์ดังเบอร์ต้น ๆ ของโลกแต่จะเน้นไปที่นักเตะอายุน้อยที่ต่อยอดได้มากกว่า ปัจจัยหลัก ๆ ก็เพื่อปั้นและขายต่อทำกำไรในอนาคต

ตัวของ คาร์ดินัล เองอาจจะเป็นหน้าใหม่สำหรับวงการฟุตบอล แต่สำหรับวงการกีฬาเขาคือมือเก๋าที่บริหารทีมกีฬาระดับโลกมาแล้วมากมายตลอด 25 ปีที่ผ่านมา

เขาคือผู้บริหารทีมฮอกกี้ในศึก NHL อย่าง พิตต์สเบิร์ก เพนกวินส์ แน่นอนในฐานะหนึ่งผู้ถือหุ้นของ FSG เขายังนับว่าเป็นผู้ถือหุ้นของสโมสรลิเวอร์พูล และบอสตัน เรดซ็อกส์ ดังที่กล่าวเอาไว้ในข้างต้นอีกด้วย ซึ่งทุกสโมสรที่กล่าวมาก็ล้วนได้รับความสำเร็จสูงสุดทั้งสิ้นในช่วงเวลา 5 ปีที่ผ่านมา

โดยในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา คาร์ดินัล ก็ให้สัมภาษณ์ถึงการลงทุนในอนาคตของเขาว่า นอกจากที่เขาจะซื้อ เอซี มิลาน แล้ว เป้าหมายสำคัญที่สุดของเขาคือการซื้อทีมบาสเกตบอล NBA ซึ่งเขาคิดว่านั่นคือ "ความสำคัญสูงสุด" หากให้จัดลำดับ

"มันจะต้องเป็นเรื่องที่น่าผิดหวังมากหากเราไม่ลงทุนเพิ่มเติม เพราะนั่นคือสิ่งที่เราทำมาตลอด เรามีโอกาสอย่างมากในทุกบทบาทสำคัญของวงการกีฬา" คาร์ดินัล ตอบสื่อในฐานะผู้ถือหุ้นของ FSG ขณะที่ในส่วนของ RedBird นั้นคือการลงทุนส่วนตัวของเขาที่เขาจ่ายเงินซื้อหุ้นบริษัทเพื่อบริหารเองด้วยเงินจำนวนถึง 750 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

คาร์ดินัล ดูเหมือนจะเป็นนักธุรกิจอเมริกันเต็มตัว คือมองภาพกว้างที่ใหญ่กว่าแค่ตำแหน่งแชมป์ แต่เขาจะเห็นโอกาสทางธุรกิจของวงการกีฬา นั่นเป็นเหตุให้ RedBird มีกิจการมากมายทั้งการรับเดิมพันกีฬาทุกประเภท ธุรกิจด้านบันเทิง การจัดการแสดงสด สื่อ และบริษัทวิเคราะห์ข้อมูล เรียกได้ว่าทุกอย่างที่เกี่ยวกับกีฬา RedBird มีเส้นสายทางธุรกิจทั้งหมด

ภาพของ คาร์ดินัล ผู้นำ RedBird จึงดูไม่น่าไว้วางใจสำหรับแฟนบอล เขามักชอบพูดเรื่องตัวเลขและโอกาสในการสร้างทรัพย์สินจากวงการกีฬาอยู่เสมอ มีนักธุรกิจอเมริกันแบบนี้หลายคนที่ทำทีเหมือนหน้าใหญ่มือเติบแต่ที่สุดแล้วก็ปู้ยี่ปู้ยำสโมสรฟุตบอลในยุโรปจนเละเทะ

ที่อังกฤษอาจจะมี ลิเวอร์พูล ในยุคของ ทอม ฮิคส์ และ จอร์จ ยิลเล็ตต์ ที่บริหารทีมหงส์แดงจนเกือบล้มละลาย นอกจากนี้ยังมี แมนฯ ยูไนเต็ด ที่เป็นตัวอย่างถึงความล้มเหลวในขีดสุดจากการบริหารของตระกูลเกลเซอร์ นอกจากนี้ที่อิตาลีก็ยังมีทีมที่มีเจ้าของเป็นอเมริกันและใช้นโยบายซื้อมาปั้นเป็นหลักทั้ง ฟิออเรนติน่า และ อตาลันตา ซึ่งเป็นทีมที่เกาะโซนบน ๆ ของตารางได้ตลอดแต่ก็ไม่เคยมีความสำเร็จเป็นชิ้นเป็นอัน นั่นคือสิ่งที่แฟนบอลมิลานกลัวว่าทีมอาจจะถอยหลังยิ่งกว่าเดิม

มิลาน คืองานพิสูจน์ตัวเอง

เอซี มิลาน คือสโมสรฟุตบอลแรกที่อยู่ในสังกัดของ RedBird ที่นำทัพโดยคาร์ดินัล วันที่เขามีข่าวกับทีมแรก ๆ แฟนมิลานแสดงความกังวลเป็นอย่างมาก เพราะพวกเขาต่างเชื่อว่าในวันที่กลุ่ม Elliot Management บริหารงานนั้น มิลานอยู่บนทิศทางที่ถูกต้องแล้ว และไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนเจ้าของแต่อย่างใด

ทว่านี่คือโลกของธุรกิจอย่างเต็มตัว เมื่อได้กำไรมากกว่าตอนที่ซื้อมา 3 เท่า ความกลัวของแฟนบอลมิลานก็ไม่อาจต้านทานกลุ่มทุน RedBird ให้เข้ามาเทคโอเวอร์สโมสรได้

ที่อังกฤษอาจจะมี ลิเวอร์พูล ในยุคของ ทอม ฮิคส์ และ จอร์จ ยิลเล็ตต์ ที่บริหารทีมหงส์แดงจนเกือบล้มละลาย นอกจากนี้ยังมี แมนฯ ยูไนเต็ด ที่เป็นตัวอย่างถึงความล้มเหลวในขีดสุดจากการบริหารของตระกูลเกลเซอร์ นอกจากนี้ที่อิตาลีก็ยังมีทีมที่มีเจ้าของเป็นอเมริกันและใช้นโยบายซื้อมาปั้นเป็นหลักทั้ง ฟิออเรนติน่า และ อตาลันตา ซึ่งเป็นทีมที่เกาะโซนบน ๆ ของตารางได้ตลอดแต่ก็ไม่เคยมีความสำเร็จเป็นชิ้นเป็นอัน นั่นคือสิ่งที่แฟนบอลมิลานกลัวว่าทีมอาจจะถอยหลังยิ่งกว่าเดิม

มิลาน คืองานพิสูจน์ตัวเอง

เอซี มิลาน คือสโมสรฟุตบอลแรกที่อยู่ในสังกัดของ RedBird ที่นำทัพโดยคาร์ดินัล วันที่เขามีข่าวกับทีมแรก ๆ แฟนมิลานแสดงความกังวลเป็นอย่างมาก เพราะพวกเขาต่างเชื่อว่าในวันที่กลุ่ม Elliot Management บริหารงานนั้น มิลานอยู่บนทิศทางที่ถูกต้องแล้ว และไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนเจ้าของแต่อย่างใด

ทว่านี่คือโลกของธุรกิจอย่างเต็มตัว เมื่อได้กำไรมากกว่าตอนที่ซื้อมา 3 เท่า ความกลัวของแฟนบอลมิลานก็ไม่อาจต้านทานกลุ่มทุน RedBird ให้เข้ามาเทคโอเวอร์สโมสรได้

"ตอนที่ผมเริ่มต้นทำงานด้านกีฬามันแตกต่างไปจากปัจจุบัน เพราะตอนนี้โลกของกีฬามันต้องไปด้วยกันหมดทั้งเรื่องของธุรกิจและการลงทุน แน่นอนว่าท้ายที่สุดแล้วปลายทางของทั้งหมดคือการเป็นผู้ชนะในคราวเดียวกันด้วย ผมสัญญาว่าจะสร้างอนาคตต่อยอดจากความสำเร็จด้วยความมุ่งมั่นอย่างแท้จริง"

ด้านสื่ออิตาลีอย่าง Tuttosport ก็ได้สัมภาษณ์คาร์ดินัล และสรุปความออกมาว่า เจ้าของใหม่ของ เอซี มิลาน มีแผนในการสร้างความยิ่งใหญ่ให้กับสโมสรโดยใช้แนวทางเดียวกับทีมเบสบอลอย่าง นิวยอร์ก แยงกีส์ ซึ่งเป็นทีมกีฬาที่มีมูลค่ามากที่สุดเป็นอันดับ 2 ของโลก

กล่าวคือ แยงกีส์ มีวิธีบริหารครบวงจรแบบที่ไม่ได้เป็นแค่ทีมกีฬาแต่เป็นเหมือน Sports Entertainment ที่ผสานกีฬาและกิจกรรมความบันเทิงต่าง ๆ เข้าไว้ด้วยกัน ทั้งคอนเสิร์ต เชียร์ลีดเดอร์ การแจกของที่ระลึก รวมถึงกิจกรรมอีกมากมายทั้งในและนอกสนาม ที่สามารถดึงดูดผู้ชมให้เข้าไปชมเกมในสนาม รวมถึงชมการถ่ายทอดสดตลอดการแข่งขัน 

โดยพื้นฐานของ แยงกีส์ และ มิลาน นั้นคล้าย ๆ กัน นั่นคือมีประวัติศาสตร์และความสำเร็จในอดีตที่ทำให้พวกเขามีฐานของแฟน ๆ ที่แข็งแกร่ง พวกเขาตั้งใจจะต่อยอดด้วยความสำเร็จในสนามและเติมเรื่องการตลาดเพื่อยกระดับมูลค่าของสโมสรไปในเวลาเดียวกัน

"เป้าหมายของทีมคือการได้แข่งขันในระดับสูงสุด (ณ ที่นี้หมายถึงยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ลีก) เพื่อช่วยให้ทีมบรรลุถึงระดับความนิยมที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เหมือนกับที่ นิวยอร์ก แยงกีส์ ทำ และพวกเราจะร่วมมือกับ Elliot Management ที่ยังมีหุ้นส่วนหนึ่งของสโมสรอยู่ในมือ การรวมมือกันนี้คือสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นในวงการฟุตบอลอิตาลีมาก่อน" Tuttosport อธิบาย

นอกจากนี้พวกเขายังอธิบายเพิ่มอีกว่า สิ่งที่ คาร์ดินัล ต้องการคือการให้ มิลาน มีสนามเหย้าเป็นของตัวเองเพื่อเพิ่มรายได้ให้มากขึ้น แม้สองทีมเมืองมิลาน ทั้ง เอซี มิลาน และ อินเตอร์ มิลาน มีแผนร่วมกันสร้าง ซาน ซิโร่ รังเหย้าแห่งใหม่ในพื้นที่เดิม

โดยเขาได้เข้าพบกับ โรแบร์โต้ ดิ สเตฟาโน่ นายกเทศมนตรีเขตเซสโต ซาน โจวานนี่ ในเมืองมิลาน เพื่อสอบถามถึงความเป็นไปได้ของแผนงานนี้แล้ว คาดว่าเป้าหมายคือพื้นที่ของโรงงานเหล็กเก่าที่ชื่อว่า Falck พวกเขาตั้งใจจะซื้อที่ดินตรงนี้ เพราะเชื่อว่าหากเป็นที่ดินส่วนตัวจะช่วยลดขั้นตอนความล่าช้าของทางรัฐได้ ซึ่งก็มีความเป็นไปได้อยู่ เพราะเดิมทีพื้นที่นี้เป็นของเอกชนอยู่แล้ว และเขตเซสโต ซาน โจวานนี่ ก็ยินดีต้อนรับเมกะโปรเจ็กต์นี้เช่นกัน แม้ว่ามันอาจเป็นโปรเจ็กต์ร่วมกันของสองทีมแห่งเมืองมิลานตามเดิมก็ตาม

นั่นคือสิ่งที่ RedBird วางแผนไว้ มันคือแนวทางที่คล้าย ๆ กับสโมสรชั้นแนวหน้าอื่น ๆ ในยุโรปที่ทำการสร้างแบรนด์ของสโมสรให้ใหญ่ขึ้นกว่าเดิม มีการจัดการและบริหารที่สามารถเพิ่มรายได้ให้ได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย ซึ่งทั้งหมดนี้จะนำมาซึ่งกำไรที่เพิ่มขึ้น และกำไรเหล่านี้จะถูกส่งกลับไปพัฒนาทีมในส่วนต่าง ๆ หรือเรียกว่าเป็นการทำให้ เอซี มิลาน กลับมาติดตลาดอีกครั้ง หลังจากเคยทำได้มาแล้วในยุคที่ ซิลวิโอ แบร์ลุสโคนี่ เป็นประธานสโมสร เพียงแต่ว่าในยุคของเจ้าของอเมริกันพวกเขาจะผลักดันเรื่องนอกสนามและเรื่องธุรกิจมากขึ้นนั่นเอง

ท้ายที่สุดแล้วทั้งหมดที่กล่าวมานี้คือการเอาอดีตการบริหารงานด้านกีฬาของพวกเขาและการสรุปจากวิสัยทัศน์ที่เขาบอกผ่านสื่อมาอ้างอิงเท่านั้น ของจริงกำลังจะเริ่มหลังจากนี้ เอซี มิลาน มาถูกทางแล้วในปีที่ผ่านมา แต่เราคงต้องมาคอยดูกันว่าพวกเขาจะยกระดับไปเป็นโคตรทีมแบบที่โฆษณาไว้ได้หรือไม่

“ผมเริ่มเรียนภาษาอิตาลีแล้ว และคำแรกที่เรียนรู้คือ Forza Milan!" คาร์ดินัล กล่าวในงานแถลง ซึ่งความจริงจะเป็นไปตามที่เขาว่าหรือไม่ ... เวลาเท่านั้นที่ให้คำตอบได้

 

 

  

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

TOP 5 ข่าวในรอบ 3 วัน

อัลบั้มภาพเด็ดๆ

More »

คลิปไฮไลท์

More »