ผลคะแนนและราคา 2 in 1 คะแนนในการแข่งสด ผลการแข่งขัน ตารางการแข่งขัน อัตราต่อรอง ข้อมูล คะแนนบาสเก็ตบอล
ฟุตบอล » พรีเมียร์ลีก อังกฤษ » ย้อนดูตำนานแดงเดือดก่อนบู๊กันในยูโรปาลีก

ย้อนดูตำนานแดงเดือดก่อนบู๊กันในยูโรปาลีก

Posted 27/02/2016 by siamsport

กล่าวสำหรับการโรมรันระหว่าง ลิเวอร์พูล กับ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ไม่ใช่เป็นเพียงแค่การเจอกันของสองยักษ์ใหญ่ร่วมภาคตะวันตกเฉียงเหนือของอังกฤษเท่านั้น หากแต่มันยังมีความหมายถึงรากเหง้าของคนทั้งสองเมือง ซึ่งแย่งชิงความยิ่งใหญ่กันมาตลอด ไล่ตั้งแต่เรื่องเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง

        ว่ากันในส่วนของเกมลูกหนังบนสนามเพียวๆ นับเป็นเวลานานกว่า 60 ปีหลังสงครามโลกครั้งที่สอง แมนฯ ยูไนเต็ด ขับเคี่ยวกับ ลิเวอร์พูล มาตลอด แม้จะมี อาร์เซน่อล, ลีดส์ หรือ เชลซี โผล่มาร่วมแจมบ้าง แต่ก็เป็นเพียงแค่ชั่วคราว

        สงครามแข้งสุดคลาสสิคของอังกฤษจริงๆ ต้องเป็น แมนฯ ยูไนเต็ด กับ ลิเวอร์พูล เท่านั้น

        หลังสงครามโลกครั้งที่สองสงบ ลิเวอร์พูล สอยแชมป์ดิวิชั่นหนึ่งเดิมไปครองก่อนในฤดูกาล 1946-47 ปล่อยให้ แมนฯ ยูไนเต็ด ภายใต้การนำของ แม็ตต์ บัสบี้ อดีตนักเตะ "หงส์แดง" มองอย่างอิจฉาตาร้อนจากอันดับที่สอง

        หลังปิดฉากซีซั่นด้วยอันดับสองสามปี ในที่สุด บัสบี้ ก็พา "ปีศาจแดง" ผงาดคว้าแชมป์ลีกปี 1952 พร้อมกับแนะนำให้โลกรู้จักขุนพลชุด "บัสบี้ เบ๊บส์" ขณะที่ ลิเวอร์พูล ต้องพบกับความขมขื่นเมื่อมีอันตกชั้นสู่ดิวิชั่นสองในปี 1954

        ภายหลังจาก แมนฯ ยูไนเต็ด ประสบโศกนาฏกรรมเครื่องบินตกที่ มิวนิค ในปี 1958 บัสบี้ ก็เริ่มสร้างทีมชุดใหม่ที่ครองความยิ่งใหญ่ในระดับทวีป และประเทศในเวลาต่อมา จนทำให้ชื่อ ลิเวอร์พูล หายไปจากแผนที่ลูกหนังพักเล็กๆ

        ชาว "ลิเวอร์พัดเลี่ยน" อาจปราชัยบนเส้นทางลูกหนัง แต่กลับไปได้สวยบนบรรทัดตัวโน๊ตเมื่อวงดนตรี "เดอะ บีทเทิ่ลส์" ครองความยิ่งใหญ่ในโลกดนตรีด้วยอัลบั้ม "พลีส พลีส มี"

        ฝูง "แมนคูเนี่ยน" เริ่มนอนไม่หลับเมื่อ บิล แชงค์ลี่ นำ ลิเวอร์พูล กลับสู่ดิวิชั่นหนึ่งอีกครั้งในปี 1962 ก่อนคว้าแชมป์ลีกในปี 1964 และ 1966 รวมถึง เอฟเอ คัพ ในปี 1965

        ขณะที่ แมนฯ ยูไนเต็ด พยายามโต้ตอบด้วยแชมป์ลีกในปี 1965 และ 1967 รวมถึง เอฟเอ คัพ ในปี 1963

        แชมป์ลีกปี 1967 เป็นสัญญาณแห่งยุคทองของ แมนฯ ยูไนเต็ด ในช่วงทศวรรตที่ 60 เมื่ออีกแค่ปีเดียวถัดมา บัสบี้ พา "เร้ด อาร์มี่" ครองแชมป์ยุโรปด้วยการขย่ม เบนฟิก้า โดยขุนพลที่ชวนให้ตาลุกอย่าง จอร์จ เบสต์, บ๊อบบี้ ชาร์ลตัน และ เดนิส ลอว์

        ลิเวอร์พูล ที่แอบมองอย่างอิจฉา ตั้งความหวังไว้กับพวก เอียน เซนต์ จอห์น, โรเจอร์ ฮันท์ และ เอียน คัลลาแฮน

        กระทั่งอีกสองทศวรรษให้หลัง ก็เป็นเวลาของ ลิเวอร์พูล บ้าง หลัง เซอร์ แม็ตต์ บัสบี้ ประกาศอำลาวงการ จน แมนฯ ยูไนเต็ด ตกต่ำถึงขนาดต้องลงไปเวียนว่ายในดิวิชั่นสองในยุคนายใหญ่ ทอมมี่ ด็อคเฮอร์ตี้

        แชงค์ลี่ พา "หงส์แดง" สยายปีกด้วยการคว้าทั้ง ยูฟ่า คัพ ปี 1973 และ เอฟเอ คัพ ปี 1974 ก่อนยอมลงจากบัลลังก์ เพื่อเปิดทางให้ บ๊อบ เพสลี่ย์ ขึ้นเป็นใหญ่แทน

        "เดอะ ค็อป" ไม่ได้ตั้งความหวังกับ เพสลี่ย์ มาก แต่กลับประสบความสำเร็จอย่างเพียบแปล้เมื่อได้ทั้งแชมป์ลีก และ แมนฯ ยูฟ่า คัพ แบบดับเบิ้ลในปี 1967 ก่อนที่ปีต่อมา จะได้เป็นแชมป์ ยูโรเปี้ยน คัพ ครั้งแรก แถมยังป้องกันแชมป์ลีกได้อีกต่างหาก

        อย่างไรก็ตาม ความฝันในการทำทรบเบิ้ลแชมป์ของ ลิเวอร์พูล ต้องพังทลาย ด้วยน้ำมืออริตัวแสบอย่าง แมนฯ ยูไนเต็ด ในนัดชิงชนะเลิศ เอฟเอ คัพ ปี 1977

        ลิเวอร์พูล สอยแชมป์ยุโรปมาครองอีกครั้งในปีถัดมาที่เมืองบรูช ต่อด้วยแชมป์ยุโรปหนที่สามในปี 1981 หลังเอาชนะ เรอัล มาดริด ขณะที่ เพสลี่ย์ พาทีมเป็นแชมป์ลีกอีกสองสมัยในสองปีสุดท้ายที่ แอนฟิลด์

        โจ เฟแกน เข้ามาสานงานต่อด้วยการพา ลิเวอร์พูล คว้าแชมป์ลีก และ ยูโรเปี้ยน คัพ ในปี 1983-84

        ปี 1985 "หงส์แดง" พ่ายต่อ ยูเวนตุส ในโศกนาฏกรรมที่ เฮย์เซล สเตเดี้ยม จนทำให้สโมสรจากอังกฤษ ต้องถูกแบนจากการร่วมสังฆกรรมในถ้วยยุโรป

        อีกสองฤดูกาลต่อมา เฟแกน เปิดทางให้ เคนนี่ ดัลกลิช พา ลิเวอร์พูล เป็นแชมป์ลีกอีกสามสมัย บวกกับ เอฟเอ คัพ อีกสอง

        ขณะเดียวกัน แมนฯ ยูไนเต็ด เริ่มกระบวนการฟื้นตัวด้วยการสอยแชมป์ เอฟเอ คัพ มาครองสองใบภายใต้การนำของ รอน แอ๊ตกินสัน ในปี 1983 และ 1985

        "เร้ด เดวิลส์" เกือบเป็นแชมป์ลีกในปี 1986 แต่กลับโดน ลิเวอร์พูล ปาดหน้าคว้าไปครองอย่างเจ็บแสบ ก่อนที่ฤดูกาลต่อมา "ป๋ารอน" จะโดนตะเพิดในที่สุด

        อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน เดินทางถึง โอลด์ แทร็ฟฟอร์ด ในเดือนพฤศจิกายน ปี 1986 ก่อนปลุก "ปีศาจแดง" ให้คืนชีพอย่างน่ากลัว แม้เริ่มต้นด้วยมือเปล่าในสามฤดูกาลแรก ก่อนคว้า เอฟเอ คัพ ในปี 1990

        ชัยชนะครั้งต่อมาคือการโค่น บาร์เซโลน่า จนได้แชมป์ ยูโรเปี้ยน คัพ วินเนอร์ส คัพ ขณะที่ ลิเวอร์พูล ได้แชมป์ลีกเป็นครั้งสุดท้ายในปี 1990 ก่อนที่ ดัลกลิช จะจากไปในปีต่อมา

        แกรม ซูเนสส์ ขึ้นเป็นใหญ่ที่ แอนฟิลด์ แต่แม้จะพาทีมเป็นแชมป์ เอฟเอ คัพ ในปี 1992 แต่ก็ไม่เพียงพอกับความคาดหวังของผอง "เดอะ ค็อป"

        ขณะเดียวกัน การที่ เฟอร์กูสัน เซ็นสัญญาคว้า เอริก คันโตน่า มาจาก ลีดส์ ก็จุดประกายให้ แมนฯ ยูไนเต็ด คืนสู่ความยิ่งใหญ่

        "ปีศาจแดง" คว้าแชมป์ลีกสูงสุดของประเทศมาครองได้เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 1967 ก่อนที่ "เฟอร์กี้" จะทำได้อีก 13 ครั้งในเวลาต่อมา นอกจากนี้ เด็กๆ ของ เฟอร์กูสัน ยังเป็นแชมป์ เอฟเอ คัพ ถึงห้าสมัย ซึ่งหนึ่งในนั้นคือการเฉือน ลิเวอร์พูล 1-0 ในนัดชิงชนะเลิศเมื่อปี 1996 ด้วย

        แชมป์ยุโรปหนแรกของ "เฟอร์กี้" คือการสอยมันมาได้พร้อมกับแชมป์ลีก และ เอฟเอ คัพ จนถูกบันทึกชื่อว่าเป็น "ทริปเปิ้ลแชมป์" ในปี 1999

        ลิเวอร์พูล ได้แชมป์ ยูฟ่า คัพ, ลีก คัพ และ ซูเปอร์ คัพ จากการทำงานของ รอย อีแวนส์ และ เชราร์ อุลลิเย่ร์ ในเพลาต่อมา

        โดยรวมแล้ว "สเก๊าเซอร์ส" ตกอยู่ภายใต้ร่มเงาของ "แม็งค์ส" อีกครั้ง

        ราฟาเอล เบนิเตซ พยายามปั้นให้ ลิเวอร์พูล ติดปีกอีกครั้ง หลังคว้าแชมป์ยุโรปมาครองได้เมื่อปี 2005 แต่ก็ไม่สำเร็จ

        ขณะที่ แมนฯ ยูไนเต็ด เพิ่มดีกรีให้ตัวเองด้วยแชมป์ยุโรปปี 2008

        ย้อนกลับไปฤดูกาลที่แล้ว ภายใต้การนำของ เบรนแดน ร็อดเจอร์ส พลพรรค "หงส์แดง" ใกล้เคียงกับการได้แชมป์ลีกแบบสุดๆ ทว่าน่าเสียดายที่แหกโค้งสุดท้าย จนทำให้สถิติแชมป์ลีกสูงสุด (18) ยังตามหลังอริตัวแสบอยู่สองครั้ง (20)

        สองทีมนี้ แย่งชิงความยิ่งใหญ่กันมาเนิ่นนาน นานจนความเกลียดชังถูกฝังอยู่ในสายเลือดของกองเชียร์ทั้งสองฝ่าย

       และการพบกันบนเวที ยูโรปา ลีก รอบ 16 ทีมสุดท้าย ก็คงไม่มีบรรยากาศที่ชวนให้รู้สึกถึงความเป็นมิตรแน่นอนยากาศที่ชวนให้รู้สึกถึงความเป็นมิตรแน่นอน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

TOP 5 ข่าวในรอบ 3 วัน

อัลบั้มภาพเด็ดๆ

More »

คลิปไฮไลท์

More »