ผลคะแนนและราคา 2 in 1 คะแนนในการแข่งสด ผลการแข่งขัน ตารางการแข่งขัน อัตราต่อรอง ข้อมูล คะแนนบาสเก็ตบอล
ฟุตบอล » ลีกคัพอื่นๆ » เหตุผลวงการบอลโครเอเชียไปได้สวยทั้งที่ประชากรน้อย

เหตุผลวงการบอลโครเอเชียไปได้สวยทั้งที่ประชากรน้อย

Posted 13/07/2018 by siamsport

เหตุผลสำคัญนำวงการฟุตบอลโครแอตยิ่งใหญ่ทั้งที่ประชากรน้อยนิด

หลังจากค่ำคืนเมื่อวันพุธที่ 11 กรกฎาคมที่ผ่านมา โลกลูกหนังได้เห็นหน้าประวัติศาสตร์ใหม่กับการที่ โครเอเชีย ทะลุเข้าสู่รอบชิงชนะเลิศ ฟุตบอลโลก 2018 ซึ่งเป็นครั้งแรกของพวกเขา โดยชาตินี้ถือเป็นประเทศที่เล็กที่สุดที่ได้มีโอกาสลุ้นความสำเร็จในมหกรรมลูกหนังแห่งมวลมนุษยชาติ

โครเอเชีย มีประชากรเพียงแค่  4.29 ล้านคนเท่านั้นที่ได้เข้าชิงชนะเลิศ พวกเขาเอาชนะ อาร์เจนตินา (ประชากรราว 43 ล้านคน), อังกฤษ (ประชากรราว 53 ล้านคน) และ รัสเซีย เจ้าภาพ (ประชากรราว 144 ล้านคน)  ความสำเร็จในครั้งนี้ถือว่าน่าสนใจมากๆ สำหรับชาติที่แตกออกมาจากยูโกสลาเวีย

เบื้องลึกเบื้องหลังที่ทำให้ "ตาหมากรุก" ไปได้ไกลขนาดนี้ ไม่ใช่เรื่องบังเอิญแน่นอน เพราะหากพิจารณาบรรดานักเตะในทีมชุดนี้ ส่วนใหญ่แล้วออกมาค้าแข้งต่างประเทศ แถมมีบางคนที่ต้องเผชิญกับเรื่องราวเลวร้ายในช่วงที่เกิดสงครามฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ แล้วมีเหตุผลอะไรอีกที่ทำให้วงการฟุตบอลโครแอตยอดเยี่ยมทั้งๆ ที่มีประชากรเพียงน้อยนิดเมื่อเทียบกับชาติยักษ์ใหญ่ในวงการลูกหนังโลก

- สร้างชาติหลังสงครามประกาศเอกราช

ประชากรในประเทศโครเอเชีย - 4,292,095 คน

ประวัติศาสตร์ - โครเอเชีย เป็นส่วนหนึ่งของอดีตยูโกสลาเวีย ร่วมกับ เซอร์เบีย, บอสเนีย และเฮอร์เซโกวีน่า, มอนเตเนโกร, มาซิโดเนีย, สโลวีเนีย และ โคโซโว ตั้งแต่ปี 1918 จนกระทั่งมีการประกาศเอกราชในปี 1990 นอกจากนี้ในหน้าประวัติศาสตร์ดินแดนแห่งนี้เคยอยู่ในการปกครองของจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการี ด้วยเหตุนี้ทำให้พวกเขามีศาสนาทั้งคาทอลิค, เซิร์บออร์โธด็อกซ์ และชาวบอสเนียที่นับถือมุสลิม

สโมสรฟุตบอลที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดในประเทศ - ดินาโม ซาเกร็บ กับ ไฮจ์ดุ๊ค สปลิท

กีฬายอดนิยม - ฟุตบอล ตามด้วย แฮนด์บอล, บาสเกตบอล และโปโลน้ำ

ทีมชาติโครเอเชีย เริ่มกลับมารวมตัวเพื่อลงเล่นฟุตบอลอีกครั้งในปี 1990 ด้วยการอุ่นเครื่องกับ สหรัฐอเมริกา โดยไม่ได้รับการยอมรับจากสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ (ฟีฟ่า) อย่างไรก็ตามนี่คือหนึ่งในแนวทางที่สร้าง โครเอเชีย ขึ้นมาใหม่นับตั้งแต่แยกประเทศ

ประเทศนี้ประกาศอิสรภาพในปี 1991 แต่ก็ยังคงมีส่วนเกี่ยวพันกับสงครามในคาบสมุทรบอลข่านนับตั้งแต่ที่ ยูโกสลาเวีย ล่มสลาย ชาวโครแอตจำนวนมากใช้ชีวิตในประเทศโครเอเชีย โดยมีชนกลุ่มน้อยที่ยังคงอาศัยอยู่ที่เซอร์เบีย และบอสเนีย  อะไรคือผลที่ตามมาจากการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ และความเป็นอริราชศัตรูระหว่างชาติ ทั้งๆ ที่พวกเขาใช้ภาษาที่แทบจะเหมือนกัน และยังใช้ดินแดนเดียวกันมานานกว่าศตวรรษ ?

สตาร์ลูกหนังอย่าง ลูก้า โมดริช ซึ่งเกิดในปี 1985 ต้องใช้ชีวิตในวัยเด็กด้วยความหวาดกลัวจากหลายๆ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เขาต้องหลบลี้หลีจากจากดินแดนเกิดเนื่องจากต้องเจอกับความขัดแย้งที่รุนแรงในวัยเพียงแค่ 6 ปี พ่อของเขาเข้าร่วมกับกองทัพชาวโครเอเชียน ส่วนคุณปู่ของเขาถูกยิงตายเคียงข้างกับบรรดาพลเรือนสูงวัยคนอื่นๆ โดยน้ำมือของผู้ก่อกบฏชาวเซิร์บ-โครเอเชียน ขณะที่บ้านของเขาโดนเผาวอดวาย

"นั่นคือช่วงเวลาที่แสนยากลำบากและเลวร้ายที่สุด" เพลย์เมกเกอร์ "ราชันชุดขาว" เรอัล มาดริด ย้อนความหลังแสนขมขื่น "ผมยังคงจดจำเรื่องราวเหล่านั้นได้อย่างชัดเจน แต่มันไม่ใช่สิ่งที่คุณต้องไปคิดเกี่ยวกับเรื่องพวกนั้น สงครามทำให้ผมเข้มแข็ง"

นักเตะชาวโครแอตรุ่นนี้ได้รับผลกระทบจากสงครามโดยตรงมากมาย ทั้ง มาริโอ มานด์ซูคิช ที่เติบโตในเยอรมนี ซึ่งเป็นประเทศที่เขาเริ่มต้นเล่นฟุตบอลก่อนจะกลับไป โครเอเชีย ตอนอายุ 10 ขวบ ขณะ อิวาน ราคิติช เกิด และเติบโตในสวิตเซอร์แลนด์ ดินแดนที่เขาเริ่มต้นอาชีพพ่อค้าแข้งกับ บาเซิ่ล ด้าน เวดราน ชอร์ลูก้า เกิดในบอสเนีย แต่อพยพไปที่ โครเอเชีย ในปี 1992 ช่วงระหว่างที่เกิดสงครามกลางเมือง

ส่วนบรรดานักเตะดาวรุ่งน้อยนักที่จะได้รับผลกระทบโดยตรงจากสงครามฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ แต่ความทรงจำ และตำนานเล่าขานเรื่องของสงครายังคงมีความสำคัญภายในทีม ยกตัวอย่าง เดยันลอฟเรน เพราะเกิดเรื่องโต้เถียงอย่างรุนแรงจากการที่เขาโพสต์วีดิโอที่ตัวเองร้องเพลงชาตินิยมที่สืบทอดมาจากสโลแกนของลัทธิฟาสซิสต์

สำหรับความทรงจำเหล่านี้อาจจะแปรเปลี่ยนเป็นแรงกระตุ้นชั้นดี และนำไปสู่ความเป็นหนึ่งเดียวกันในทีมชาติโครเอเชียก็ได้
 
- 1998 และทุกๆ อย่างที่เกิดขึ้น

มันยังเร็วเกินไปสำหรับ โครเอเชีย ที่จะทำผลงานได้ดี เพราะหลังจากที่พวกเขาเอาแต่อุ่นเครื่องมากมาย ในที่สุดทัพ "ตาหมากรุก" มีโอกาสได้ร่วมแข่งขันระดับชาติครั้งแรกตอนที่มีการจัดโปรแกรมเมื่อปี 1994 และได้ผ่านเข้ารอบคัดเลือกศึกยูโร 96  โดยสามารถคว้าแชมป์กลุ่มเหนือ อิตาลี จากนั้นก็เดินทางไปเล่นในทัวร์นาเมนต์ที่อังกฤษ พร้อมกับผ่านเข้าสู่รอบน็อกเอาต์ ก่อนจะตกรอบก่อนรองชนะเลิศด้วยน้ำมือของ เยอรมนี แชมป์ในครั้งนั้น ซึ่งเพียงแค่ 5 ปีหลังจากที่สร้างชาติของพวกเขาขึ้นมา

บรรดานักเตะในชุดนั้นได้แก่ สลาเวน บิลิช, ซโวนิเมียร์ โบบัน และ ดาวอร์ ซูเคอร์ กลายเป็นที่รู้จักกันในนาม "ยุคทองโครเอเชีย" และพวกเขาได้สร้างเรื่องราวที่สุดยิ่งใหญ่ในอีก 2 ปีต่อมาในศึก "ฟร็องซ์ 98" ประเทศฝรั่งเศส พวกเขาได้นำธงตาหมากรุกสีขาว-แดง โบกสะบัดอย่างน่าเกรงขามด้วยฟอร์มในรอบแบ่งกลุ่มที่ชนะ จาเมกา และญี่ปุ่น แต่แพ้ อาร์เจนตินา ยุคของกาเบรียล บาติสตูต้า

จากนั้นก็ผ่านเข้ารอบน็อกเอาต์ไปพบกับ โรมาเนีย และเอาชนะได้อย่างหวุดหวิดจากจุดโทษของ ซูเคอร์ ทัพโครแอตต้องดวลกับ เยอรมนี ในรอบ 8 ทีมสุดท้าย และพวกเขาก็จัดการล้างแค้นได้อย่างสะใจด้วยสกอร์ 3-0 ในรอบตัดเชือกถือเป็นงานสุดหินเมื่อต้องเจอกับเจ้าภาพ ฝรั่งเศส ที่มีทั้ง ซีเนดีน ซีดาน, ดีดิเย่ร์ เดส์ชองส์ (เทรนเนอร์ฝรั่งเศสคนปัจจุบัน) และ เธียร์รี่ อองรี

แมตช์นั้น ฝรั่งเศส ซึ่งแชมป์โลกในครั้งนั้น ชนะ 2-1 ทั้งๆ ที่ โครเอเชีย นำไปก่อน แต่พวกเขาได้ซูเปอร์ฮีโร่นาม ลิลิยอง ตูราม กองหลังที่ซัดคนเดียวสองประตู โดยตอนนี้เหตุการณ์เมื่อ 20 ปีก่อนได้หวนกลับมาอีกครั้ง แต่เกิดขึ้นในนัดชิงชนะเลิศ วันอาทิตย์ที่ 15 ก.ค.นี้
 
- ฟุตบอลกับการเมือง

 สองเหตุผลที่ทำให้ โครเอเชีย เป็นทีมที่ดี เพราะมาจากความยากลำบากที่เกิดจากสงคราม และการพัฒนาอย่างรวดเร็ว โดยที่พวกเขามีหัวจิตหัวใจที่แข็งแกร่ง อย่างไรก็ตามยังมีเหตุผลที่่สำคัญอีกอย่าง นั่นก็คือเรื่องของการเมือง เพราะรัฐบาลโครเอเชียที่หนุนทีมชาติอย่างเต็มที่

หนึ่งในเหตุผลที่ โครเอเชีย แซงหน้าชาติอื่นๆ ในโลกนี้ ก็คือผู้คนในประเทศนี้เน้นเรื่องการคิดมากกว่าแค่ "พูด" เหมือนกับพวก สโลวาเกีย หรือ เบลารุสซึ่งประเทศหลังไม่เคยได้ผ่านเข้าไปลุยในเวทีฟุตบอลโลกเลย อีกเรื่องที่่น่าสนใจก็คือความเป็นชาตินิยม มันอาจฟังดูไม่ค่อยน่าอภิรมณ์สำหรับชาติตะวันตกที่นิยมระบอบประชาธิปไตย โดยรัฐบาลนำโดยพรรคประชาธิปไตยแห่งโครเอเชีย (เอชดีแซด) โดนกล่าวหาว่าพยายามเอาเปรียบเพื่อให้ทีมชาติประสบความสำเร็จด้วยการใช้ถ้อยคำแบบพวกชาตินิยมเวลาที่แข่งในบ้าน และบรรยากาศด้านการเมืองแบบนั้นมีผลให้เจ้าบ้านมีปัญหากับฟีฟ่า 

ด้วยเหตุนี้จึงนำไปสู่การแบนนักเตะที่เปร่งวาจาคนคลั่งชาติในสนาม และโค้ชก็โดนไล่ออก รวมไปถึงการโดนสั่งให้ลงแข่งขันแบบสนามปิด (ห้ามแฟนบอลเข้าชม) หลายเกม จากการที่แฟนบอลนำสัญลักษณ์สวัสดิกะเข้ามาในสนาม รวมทั้งการร้องตะโกนเหยียดเชื้อชาติ และธงของลัทธิฟาสซิสต์

การที่ประเทศต้องเจอกับผลกระทบที่เลวร้ายดูเหมือนจะเป็นโอกาสที่ทำให้ทีมชาติเกิดแรงกระตุ้นมากยิ่งขึ้นในการที่จะต้องต่อสู้ด้วยตัวเอง แต่อย่างน้อยๆ เรื่องนั้นก็การันตีให้พวกเขาสามารถยกระดับตัวเองขึ้นมาตลอดช่วงหลายๆ ปีที่ผ่านมา
 
- ประเทศแห่งฟุตบอล

รากฐานสำคัญของ โครเอเชีย ก็คือเป็นประเทศแห่งฟุตบอล เหมือนกับ บราซิล, อาร์เจนตินา, สเปน, อิตาลี และแม้แต่ อังกฤษ ประเทศเหล่านี้คลั่งฟุตบอลมากๆ นี่คือกีฬาที่ผู้คนแทบทั้งประเทศเล่น เป็นกีฬาที่ผู้คนเฝ้าดู กีฬาที่เด็กๆ ให้ความสนใจมากๆ และเป็นกีฬาที่เป็นส่วนหนึ่งของแฟนบอลที่พร้อมหนุนหลังทีมชาติในศึกฟุตบอลโลก ครั้งนี้

ดินาโม ซาเกร็บ และ ไฮจ์ดุ๊ก สปลิท เป็นสองใน "สี่บิ๊กโฟร์" ของยูโกสลาเวีย เคียงข้าง ปาร์ติซาน และ เรด สตาร์ เบลเกรด โดยชาวโครแอต มีนักเตะที่เก่งมากมายที่เคยเล่นให้กับอดีตทีมจากยูโกสลาฟ นอกจากนี้ โครเอเชีย มีการลงทุนเรื่องกีฬาอย่างมาก ทั้งเรื่องสนาม และศูนย์เยาวชนกีฬาต่างๆ (โมดริช ก็เป็นหนึ่งในนั้น)

นักเตะเหล่านี้เป็นผลผลิตมาจากลีกในประเทศที่มีคุณภาพมากพอที่จะช่วยพัฒนาพวกเขา แต่พวกเขายังมีนักเตะชั้นนำที่ได้โอกาสไปเล่นในลีกระดับท็อปของยุโรป ทั้ง โมดริช, มานด์ซูคิช และ โควาซิช ที่เคยผ่านการเล่นให้ ดินาโม ซาเกร็บ ขณะที่ ซูบาซิช กับ เซอร์น่า เคยเล่นให้ ไฮจ์ดุ๊ก สปลิท เป็นต้น

สำหรับขุมกำลังโครเอเชีย ชุดลุยฟุตบอลโลก 2018 มี 6 คนที่เล่นในอิตาลี, 4 คนเล่นในสเปน, 3 คนเล่นในเยอรมนี, 2 คนเล่นในโครเอเชีย และมีอย่างละคนที่เล่นที่อังกฤษ, รัสเซีย, ฝรั่งเศส, ยูเครน กับ ตุรกี รวมทั้งประเทศอื่นๆ อีก ด้วยเหตุนี้ทำให้ทีมชุดนี้เต็มไปด้วยผู้เล่นที่มีประสบการณ์ และสไตล์การเล่นที่ยอดเยี่ยม แต่เหนือสิ่งอื่นใดก็คือชาวโครแอตสามารถปรับตัว และสร้างผลงานน่าประทับใจกับทุกๆ ลีกในโลกนี้

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

TOP 5 ข่าวในรอบ 3 วัน

อัลบั้มภาพเด็ดๆ

More »

คลิปไฮไลท์

More »