ผลคะแนนและราคา 2 in 1 คะแนนในการแข่งสด ผลการแข่งขัน ตารางการแข่งขัน อัตราต่อรอง ข้อมูล คะแนนบาสเก็ตบอล
ฟุตบอล » บุนเดสลีกา เยอรมัน » บาเยิร์น น้ำตาตก? ว่าด้วย กฎเว็บสเตอร์ สิ่งที่อาจเป็นทางออกของ เลวานดอฟสกี้

บาเยิร์น น้ำตาตก? ว่าด้วย กฎเว็บสเตอร์ สิ่งที่อาจเป็นทางออกของ เลวานดอฟสกี้

Posted 05/06/2022 by siamsport

หลังจากที่ลีกฟุตบอลหลายลีกของทวีปยุโรปปิดฉากฤดูกาล 2021-22 ไปแล้วนั้น หนึ่งในประเด็นที่ได้รับความสนใจจากหลายคนก็คือเรื่องของการย้ายทีม และปฏิเสธไม่ได้ว่าหนึ่งในนักเตะที่หลายคนจับตามองเรื่องอนาคตมากที่สุดหนีไม่พ้น โรเบิร์ต เลวานดอฟสกี้ ดาวยิง บาเยิร์น มิวนิค

    เดิมทีมันก็มีการซุบซิบกันมานานแล้วว่า เลวานดอฟสกี้ ไม่พอใจกับท่าทีจากทางต้นสังกัดเท่าไหร่ อย่างเช่นการพยายามจีบ เออร์ลิง เบราต์ ฮาแลนด์ ในตอนที่อีกฝ่ายยังอยู่กับ โบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ ไปจนถึงการที่หลายเดือนก่อนหน้านี้ "เสือใต้" ไม่จริงจังในการต่อสัญญากับเขาทั้งที่ข้อตกลงระหว่างทั้ง 2 ฝ่ายเหลือถึงช่วงกลางปีหน้าเท่านั้น โดยที่ บาร์เซโลน่า คือทีมที่มีข่าวกับเขามากที่สุด

    จนกระทั่งไม่กี่วันก่อน เลวานดอฟสกี้ ก็ออกมาเปิดปากแบบตรงไปตรงมาว่าต้องการบอกลาถิ่น อัลลิอันซ์ อารีน่า ในช่วงซัมเมอร์นี้ ซึ่งมันก็แน่นอนว่า บาเยิร์น ไม่ยอมทำตามความต้องการของ เลวานดอฟสกี้ ง่ายๆ และหากดูสถานการณ์โดยรวมแล้วพวกเขาก็ค่อนข้างได้เปรียบอีกฝ่ายในระดับหนึ่ง เพราะในเมื่อทั้งคู่ยังมีสัญญากันอยู่อีก 1 ปี ทำให้ บาเยิร์น สามารถปฏิเสธข้อเสนอจากทีมอื่นๆ ที่ต้องการขอซื้อ เลวานดอฟสกี้ ภายในตลาดรอบที่จะถึงนี้ได้

    ...แต่หากมันมีกฎที่อาจจะทำให้แผนของ บาเยิร์น ผิดพลาดได้กันล่ะ ?

    คอบอลหลายคนคงรู้ดีกันอยู่แล้วว่าในโลกฟุตบอลนั้นมีสิ่งที่เรียกว่า "กฎบอสแมน" อยู่ นั่นคือการที่นักเตะของทีมใดทีมหนึ่งจะสามารถเจรจากับทีมจากลีกอื่นเกี่ยวกับการย้ายทีมแบบไร้ค่าตัวล่วงหน้าได้ หากเหลือสัญญากับต้นสังกัดอยู่แค่ 6 เดือน ซึ่งที่ผ่านมาก็เคยมีแข้งชื่อดังที่ย้ายทีมด้วยกฎแบบนั้นมาแล้ว

    อย่างไรก็ตาม มันยังมีกฎเกี่ยวกับการย้ายทีมอีกกฎหนึ่งที่หลายคนอาจจะยังไม่รู้จักกันดี นั่นคือ กฏเว็บสเตอร์

    ตามกฎข้อที่ 17 ของสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ (ฟีฟ่า) นั้น ระบุเอาไว้ว่านักเตะคนไหนก็ตามที่เซ็นสัญญากับทีมในช่วงก่อนอายุ 28 ปี จะสามารถ "ซื้อ" ช่วงเวลาที่เหลือของสัญญา หรือเรียกอีกแบบว่า "การขอยกเลิกสัญญา" ด้วยตัวเองได้ หลังจากผ่านการเซ็นสัญญาไปแล้ว 3 ปี หรือหากทำการเซ็นสัญญาในตอนที่มีอายุ 28 ปีขึ้นไปนั้น ตัวนักเตะก็จะใช้สิทธิ์ที่ว่าได้หลังจากเซ็นสัญญาไปแล้ว 2 ปี

    ทั้งนี้ มันไม่ใช่ว่าตัวนักเตะจะสามารถทำอย่างนั้นได้แบบฟรีๆ เขาต้องยอมเสียค่าชดเชยให้กับต้นสังกัดเดิมหากใช้อ็อปชั่นนั้นเช่นกัน ซึ่งส่วนใหญ่ค่าชดเชยที่ว่าก็คือการจ่ายเงินเดือนจากระยะเวลาของสัญญาที่เหลืออยู่ นั่นคือรายละเอียดของสิ่งที่เรียกว่า กฏเว็บสเตอร์

    ใช่แล้ว ที่จริงคำว่า กฏเว็บสเตอร์ ไม่ใช่คำอย่างเป็นทางการของ ฟีฟ่า แต่มันถูกตั้งชื่อแบบนั้นเพื่อเป็นการสื่อถึง แอนดี้ เว็บสเตอร์ นักเตะคนแรกที่ใช้ประโยชน์จากกฎข้อดังกล่าวของ ฟีฟ่า โดยต้นเหตุมันมาจากการที่อดีตแข้งชาวสกอตต์เคยอยากย้ายจาก ฮาร์ทส์ ทีมในบ้านเกิดไปเล่นให้กับ วีแกน แอธเลติก จนกลายเป็นข้อพิพาทกันในระดับหนึ่ง ก่อนที่สุดท้าย เว็บสเตอร์ จะสมหวังในปี 2006

    อันที่จริงนี่ก็ไม่ใช่ครั้งแรกที่คำว่า กฏเว็บสเตอร์ เข้ามามีเอี่ยวกับนักเตะชื่อดัง เพราะย้อนกลับไปเมื่อปี 2015 มันก็เคยมีกระแสข่าวลืออย่างหนาหูว่า ราฮีม สเตอร์ลิง อาจจะใช้ช่องว่างของกฎดังกล่าวเพื่อทำให้เขาได้บอกลา ลิเวอร์พูล และไปซบตัก แมนเชสเตอร์ ซิตี้ มาแล้ว ซึ่งว่ากันว่าตอนนั้น สเตอร์ลิง จะต้องเสียค่าชดเชยแค่ 1.5 ล้านปอนด์เท่านั้น เพียงแต่สุดท้ายตอนนั้นการย้ายทีมของ สเตอร์ลิง ก็เป็นไปตามแบบปกติ ด้วยการที่ "เรือใบสีฟ้า" ยอมจ่ายเงินในเบื้องต้น 44 ล้านปอนด์เพื่อเป็นค่าตัวของเขา


    เป็นที่เชื่อกันว่าทั้ง เลวานดอฟสกี้ และ ปินี่ ซาฮาวี่ เอเยนต์ของเขารู้ถึงรายละเอียดเกี่ยวกับกฎเว็บสเตอร์เป็นอย่างดี และตอนนี้เงื่อนไขของ เลวานดอฟสกี้ ก็เข้าข่ายกฎข้อนั้นแล้ว

    สำหรับกรณีค่าชดเชยนั้น ด้วยความที่ตอนนี้ เลวานดอฟสกี้ เหลือสัญญากับทีมอีกแค่ราว 1 ปี ทำให้เขาจะต้องเสียค่าชดเชยราว 24 ล้านยูโร (แปลงจากค่าเหนื่อยเดิมที่ บาเยิร์น ต้องจ่ายให้ เลวานดอฟสกี้) ซึ่งเงินจำนวนนั้นถือว่าน้อยกว่าที่ บาร์เซโลน่า คิดที่จะยื่นข้อเสนอขอซื้อ เลวานดอฟสกี้ แบบเป็นพิธีรีตองด้วยซ้ำ หลังจากว่ากันว่า "อาซูลกราน่า" พร้อมควักเงินเป็นจำนวน 32 ล้านยูโร เพื่อเป็นค่าตัวของ เลวานดอฟสกี้


    งานนี้ต้องจับตาดูว่าสุดท้ายแล้ว กฏเว็บสเตอร์ จะกลายเป็นประเด็นร้อนของวงการฟุตบอลในช่วงซัมเมอร์นี้หรือไม่

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

TOP 5 ข่าวในรอบ 3 วัน

อัลบั้มภาพเด็ดๆ

More »

คลิปไฮไลท์

More »