ผลคะแนนและราคา 2 in 1 คะแนนในการแข่งสด ผลการแข่งขัน ตารางการแข่งขัน อัตราต่อรอง ข้อมูล คะแนนบาสเก็ตบอล
หน้าแรก » กีฬาอื่นๆ » โฟกัสต่างเป้าหมาย : G League ลีกบาสที่ห่างกับ NBA แค่หนึ่งขั้น แต่คุณภาพห่างกันชัดเจน

โฟกัสต่างเป้าหมาย : G League ลีกบาสที่ห่างกับ NBA แค่หนึ่งขั้น แต่คุณภาพห่างกันชัดเจน

Posted 26/07/2022 by Sanook

การแข่งขันกีฬาลีกรองอาจไม่ใช่ตัวเลือกแรกที่ผู้ชมทั่วโลกจะอยากติดตาม แต่ถึงอย่างนั้นลีกกีฬาเหล่านี้มักมีเสน่ห์เฉพาะตัวที่ทำให้คนบางกลุ่มหลงรักได้ไม่ยาก

NBA G League คือลีกบาสเกตบอลระดับรองอย่างเป็นทางการของ NBA ลีกบาสเกตบอลหมายเลขหนึ่งของสหรัฐอเมริกา แต่แทนที่ลีกแหน่งนี้จะน่าตื่นเต้นเหมือนพี่ใหญ่ นี่กลับเป็นการแข่งขันบาสเกตบอลที่คุณภาพร่วงลงไปอย่างเห็นได้ชัด แถมยังไม่น่าสนใจสักเท่าไหร่

Main Stand จะพาคุณไปรู้จักกับตัวตนที่แท้จริงของ G League ว่าทำไมคุณภาพและความน่าสนใจของมันถึงยังห่างไกลกับ NBA รวมถึงความพยายามในการปรับปรุงให้มีความน่าสนใจมากขึ้นเพื่อตอบรับกับโอกาสที่รออยู่เบื้องหน้า

ลีกกีฬาที่เหมือนแคมป์ฝึกซ้อม

G League หรือ NBA G League ถือเป็นลีกกีฬาระดับรองอย่างเป็นทางการของ NBA ลีกบาสเกตบอลอันดับหนึ่งของสหรัฐอเมริกา โดยในช่วงเริ่มต้น G League ถูกก่อตั้งภายใต้ชื่อ ลีกพัฒนาบาสเกตบอลแห่งชาติ หรือ NBDL (National Basketball Development League) และถือเป็นลีกบาสเกตบอลที่ไม่ขึ้นตรงกับใคร โดยมีทีมทั้งหมด 8 แฟรนไชส์ และแข่งขันกันอยู่บริเวณตะวันออกเฉียงใต้ของสหรัฐอเมริกา

จนกระทั่งปี 2005 ทางลีก NBDL ได้มีการทำข้อตกลงร่วมกับ NBA โดยจะยอมเป็นลีกรอง (Minor League) ของ NBA อย่างเป็นทางการ เพื่อเพิ่มโอกาสในการดึงดูดแฟนบาสเกตบอลส่วนใหญ่ให้เข้ามาติดตามการแข่งขัน และยังเพิ่มโอกาสในการขยายลีกให้เติบโตขึ้นไป NBDL จึงเปลี่ยนชื่อเป็น NBA D-League (NBA Development League) นับแต่นั้น ก่อนจะกลายร่างเป็น G League ในปี 2017 ตามชื่อสปอนเซอร์ที่เข้ามาสนับสนุน นั่นคือเครื่องดื่ม Gatorade

ตลอดระยะเวลาสิบกว่าปีที่ผ่านมาเป็นที่รู้กันดีว่า G League คือลีกสำหรับผู้เล่นที่มีความสามารถแต่ยังดีไม่พอจะก้าวไปเล่นใน NBA ด้วยเหตุนี้พวกเขาจึงต้องลงมาฝึกฝีมือและเก็บเกี่ยวประสบการณ์ในลีกรองเสียก่อน เมื่อพิจารณาในแง่นี้ มาตรฐานของ NBA และ G League ก็ควรจะไม่ห่างกันมากนัก กล่าวคือหากมาตรฐานความสามารถของนักบาสใน NBA อยู่ที่ราว 8 เต็ม 10 ทางฝั่ง G League ควรจะอยู่ในระดับ 7 คะแนน

แต่ปัญหาหลักที่ทำให้มาตรฐานของ G League ห่างจาก NBA มากกว่าที่ควรจะเป็นเกิดจากธรรมชาติของลีกเองที่ถูกสร้างขึ้นมาเป็น "แคมป์ฝึกซ้อมของนักบาสเกตบอล" มากกว่าจะเป็นลีกที่มีการแข่งขันอย่างจริงจัง เนื่องจากผู้เล่นในลีกทุกคนต่างมีเป้าหมายสำคัญคือการก้าวไปสู่ NBA ลีกแห่งนี้จึงเป็นเวทีที่คอยยํ้าเตือนผู้เล่นว่า คุณควรใช้เวลาอยู่ที่นี่สักพักเพื่อลองดูว่าศักยภาพของคุณพัฒนาไปถึง NBA ได้หรือไม่

G League จึงเป็นลีกที่โฟกัสไปที่ตัวผู้เล่นรายบุคคลมากกว่าความสำเร็จของทีมจริง ๆ ซึ่งหากแฟรนไชส์ในลีกมีความจริงจังในการยกระดับการแข่งขัน G League ก็จะสามารถเป็นลีกที่น่าสนใจได้ไม่ยาก แต่เช่นเดียวกับลีกรองในอเมริกันเกมส์ทั่วไป เจ้าของทีมส่วนใหญ่คือเจ้าของทีมใน NBA เพราะฉะนั้นย่อมไม่มีเหตุผลที่พวกเขาต้องทุ่มเงินลงมาพัฒนาทีมในลีกระดับรอง

ปัญหาที่ตามมาคือ G League กลายเป็นลีกกีฬาที่มอบค่าตอบแทนให้ผู้เล่นอยู่ในระดับที่ต่ำจนน่าใจหาย โดยก่อนปี 2017 ที่ลีกจะมีผู้สนับสนุนหลัก ลีกมีฐานเงินเดือนอยู่เพียงสองราคาคือ 19,500 หรือ 26,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อฤดูกาล คิดเป็นเงินไทยคือราว 7 แสนบาทกับ 9 แสนบาทต่อฤดูกาล ซึ่งถือเป็นตัวเลขที่น้อยมาก ๆ หากเทียบกับมาตรฐานของลีกสูงสุดในกีฬาบาสเกตบอล

ผู้เล่นหลายคนที่ไปไม่ถึงระดับ NBA ก็ตัดสินใจโบกมือลาสหรัฐอเมริกาเพื่อไปเล่นบาสในลีกยุโรป ยกตัวอย่างเช่น ลีกสเปน ซึ่งสามารถมอบเงินหลักแสนหรือหลักล้านดอลลาร์สหรัฐให้กับพวกเขาสบาย ๆ และเมื่อหันกลับมามอง G League ที่รายได้ต่ำเตี้ยจึงเป็นเหตุให้นักบาสฝีมือดีจำนวนไม่น้อยหนีห่างจากเวทีนี้ไป และยิ่งส่งผลให้คุณภาพของลีกลดลงไปอีก

G League จึงไม่ใช่ลีกบาสเกตบอลที่ดูแล้วจะสนุกตื่นเต้นอะไรนักแม้จะมีสถานะเป็นลีกรองอย่างเป็นทางการของ NBA ก็ตาม เมื่อบวกกับความจริงที่สื่อกีฬาใหญ่ในสหรัฐอเมริกาก็มักจะมองข้ามการนำเสนอข่าวเกี่ยวกับลีกรองอยู่แล้ว ยิ่งทำให้กระแสของ G League ยิ่งจม ยิ่งดูยิ่งน่าเบื่อกันเข้าไปใหญ่

การพัฒนาเพื่อลบล้างจุดอ่อน

แน่นอนว่า NBA ย่อมรู้ดีถึงจุดแข็งและจุดอ่อนของ G League โดยถ้ามองในแง่ของการพัฒนาทักษะนักกีฬาเพื่อส่งตรงเข้าสู่ NBA ลีกแห่งนี้ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก เพราะตัวเลขของนักกีฬาที่พัฒนาตัวเองจากลีกรองสู่ NBA มีจำนวนเพิ่มขึ้นทุกวัน ยกตัวอย่างในปี 2017 มีผู้เล่น 44 เปอร์เซ็นต์ใน NBA ขณะนั้นที่เคยเล่นใน G League มาก่อน โดยในปีนั้นมีผู้เล่นถึง 92 คนที่ถูกเรียกตัวขึ้นมาสู่ NBA

นี่คือตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่า G League มีดีกว่าที่ทุกคนคิด แต่ในแง่ความน่าสนใจ G League ยังคงจืดจางเป็นอย่างมาก NBA จึงประกาศกร้าวตั้งแต่ปี 2014 ว่าการหาสปอนเซอร์หลักเพื่อเข้ามาสนับสนุนลีกแห่งนี้ถือเป็นเป้าหมายสำคัญในการเข้ามายกระดับลีก ก่อนจะบรรลุดีลกับเครื่องดื่ม Gatorade นำมาสู่การถือกำเนิดของ G League แบบที่เราเห็นกันอยู่ในปัจจุบัน

สิ่งแรกที่ G League ยุคใหม่เดินหน้าเพื่อทำให้การแข่งขันมีความน่าสนใจมากขึ้นคือการเปิดโอกาสให้นักกีฬาเยาวชนที่อายุยังไม่ถึงเกณฑ์ดราฟต์สามารถเข้ามาแข่งขันในลีกอาชีพได้เลยด้วยสัญญาที่เรียกว่า "สัญญาเฉพาะ" ซึ่งจะการันตีเงิน 125,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อฤดูกาล หรือราว 4.5 ล้านบาทแก่นักบาสหัวกะทิรุ่นเยาว์จากทั่วประเทศ

แค่นับเรื่องฐานเงินเดือนจากเดิมที่อยู่แค่หลักหมื่นที่ได้ถูกขยับขึ้นเป็นหลักแสนก็น่าจะทำให้ G League มีความน่าดึงดูดใจมากขึ้นแล้ว แต่ที่มากกว่านั้นคือการเปิดโอกาสให้นักบาสฝีมือดีอายุ 18 ปีได้มาลงเล่นแบบเต็มที่ในลีกอาชีพเป็นเวลาหนึ่งปี ก่อนจะเข้าสู่การดราฟต์ในปีถัดไป ซึ่งหากนักบาสเหล่านี้ทำผลงานได้ดีอยู่แล้วในระดับโรงเรียนย่อมมีแฟนคลับเข้ามาจับตามองว่าพวกเขาจะทำผลงานได้ดีแค่ไหนบนเวทีลีกอาชีพ

การปรับปรุงตรงนี้สามารถเรียกได้ว่า G League ยกระดับความน่าสนใจของลีกได้อย่างถูกจุด เพราะพวกเขารู้อยู่แล้วว่าจุดขายของลีกคือการพัฒนาผู้เล่นรายบุคคล ดังนั้นการเลือกซูเปอร์สตาร์รุ่นเยาว์เข้ามาสู่ลีกจะเป็นการดึงดูดแฟนบาสที่สนใจผู้เล่นเหล่านี้เป็นทุนเดิมได้ ซึ่งแนวทางนี้น่าจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่าการพัฒนาทีมทั้งระบบซึ่งต้องใช้งบประมาณและเวลาในการพัฒนามากกว่า

การอัดฉีดเงินรายบุคคลแก่ผู้เล่นใน G League จึงเป็นวิธีการที่ NBA เลือกใช้เพื่อให้ลีกมีความน่าสนใจมากขึ้น โดยปัจจุบันผู้เล่นในลีกขยับฐานเงินเดือนเพิ่มขึ้นเป็น 35,000 ดอลลาร์สหรัฐบวกกับค่าที่อยู่อาศัยและค่าประกัน และเพื่อเร่งให้นักกีฬาตั้งใจโชว์ฟอร์มมากยิ่งขึ้น ผู้เล่นที่ถูกเรียกตัวขึ้นสู่ NBA จะได้รับเงินพิเศษอีก 50,000 ดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 1.7 ล้านบาท

G League ยังมีระบบสัญญาสองทาง (Two-Way Contracts) เพื่อเปิดโอกาสให้ทีมจาก NBA สามารถเซ็นสัญญาผู้เล่นสองคนต่อทีมจากใน G League ที่จะเปิดโอกาสให้ผู้เล่นคนนั้นถูกดึงตัวไปเล่นใน NBA ได้ทันทีเป็นระยะเวลาไม่เกิน 50 เกม (กฎเดิมคือไม่เกิน 45 วัน) ซึ่งเปิดโอกาสให้ผู้เล่นคนนั้นได้รับเงินในอัตราพื้นฐานของรุกกี้ NBA ตามเวลาที่เล่นอยู่ในลีกบน

มากกว่านั้น NBA ยังมีการสร้างทีมพิเศษเรียกว่า NBA G League Ignite หรือทีมรวมบรรดานักบาสเกตบอลดาวรุ่งพุ่งแรง ซึ่งปฏิเสธที่จะเข้าสู่ลีกมหาวิทยาลัยตามระบบปกติแต่เลือกเดินทางลัดเข้ามาเล่นบนเวทีลีกอาชีพเลย

โดย NBA G League Ignite มีจุดเด่นคือการนำเสนอเงินค่าเหนื่อยที่มากสูงสุดถึง 5 แสนดอลลาร์สหรัฐต่อฤดูกาล (ราว 18 ล้านบาท) ซึ่งคนที่เข้าสู่โปรแกรมหนึ่งปีกับทีมเพื่อรับเงินมหาศาลตรงนี้คือ จาเลน กรีน ดาวรุ่งตำแหน่งชูตติ้งการ์ดที่ปัจจุบันประสบความสำเร็จและถูกดราฟต์เข้าสู่ทีม ฮิวส์ตัน ร็อคเก็ตส์ เป็นที่เรียบร้อยเมื่อฤดูกาล 2021 ที่ผ่านมาในฐานะอันดับ 3 รวมถึง โจนาธาน คูมิงก้า อดีตเพื่อนร่วมทีมและดราฟต์อันดับ 7 ปีเดียวกัน ที่ได้แหวนแชมป์กับ โกลเดน สเตท วอร์ริเออร์ส ในฤดูกาล 2021-22 ที่เพิ่งจบไป

การสร้างความเชื่อมโยงระหว่าง NBA กับ G League ให้มากขึ้นคือแนวทางหลักที่จะช่วยให้คนดูของลีกรองแห่งนี้เพิ่มขึ้นได้ อย่างไรก็ตามมาตรฐานการแข่งขันของ G League ยังไม่ได้ถูกยกระดับขึ้นมากกว่าเดิมแบบก้าวกระโดด เพราะบรรดาผู้เล่นฝีมือดีจากรุ่นเยาวชนไม่ใช่ยอดฝีมือที่จะสามารถพัฒนาคุณภาพได้แบบปุบปับ ในทางกลับกันพวกเขามีโอกาสไม่น้อยที่จะทำผลงานได้ไม่ดีใน G League จนไม่มีใครสนใจในเวทีดราฟต์

ดังนั้นแล้วเวที G League จึงยังคงเป็นการแข่งขันสำหรับคนที่ไม่พร้อมสำหรับ NBA อยู่ดี เมื่อบวกกับการที่ผู้เล่นแบบอื่น ๆ ทั้งสัญญาทดลองของผู้เล่นท้องถิ่นหรือผู้เล่นที่ถูกดราฟต์โดยลีกเองก็ทำให้เห็นว่า G League ยังมีคุณภาพแตกต่างจาก NBA มากในปัจจุบันอยู่เหมือนเดิม

ตราบใดที่ลีกแห่งนี้ยังคงให้ความสำคัญกับผู้เล่นรายบุคคลมากกว่าทีม ไม่มีทางเลยที่มาตรฐานของ G League จะพัฒนาขึ้นได้อย่างชัดเจน แต่เมื่อมองในภาพรวม บางทีแนวทางที่เป็นอยู่ตอนนี้อาจจะดีอยู่แล้ว เพราะมันคือเวทีที่เปิดโอกาสให้นักบาสเกตบอลที่ยังไม่พร้อมได้ฝึกฝีมือก่อนก้าวสู่เวทีระดับโลกอย่าง NBA

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

TOP 5 ข่าวในรอบ 3 วัน

อัลบั้มภาพเด็ดๆ

More »

คลิปไฮไลท์

More »