ผลคะแนนและราคา 2 in 1 คะแนนในการแข่งสด ผลการแข่งขัน ตารางการแข่งขัน อัตราต่อรอง ข้อมูล คะแนนบาสเก็ตบอล
ฟุตบอล » ลีกคัพอื่นๆ » Mad Summer ตลาดคลั่ง

Mad Summer ตลาดคลั่ง

Posted 03/09/2014 by siamsport

 
 
นับตั้งแต่สิ้นสุด ฤดูกาลจนถึงหลังวันที่ 1 กันยายน รวมระยะเวลา 3 เดือนครึ่ง หรือหากนับเฉพาะช่วงเวลาอย่างเป็นทางการ ก็ 2 เดือนเต็มตั้งแต่ 1 กรกฎาคม จนถึงวันนี้

        ทว่าก็เป็นเช่นทุกครั้ง ที่ใน 24 ชั่วโมงสุดท้าย ยิ่งเข้าใกล้เส้นตายเท่าไหร่ ความเคลื่อนไหวก็ยิ่งรุนแรงขึ้นเท่านั้น เหมือนภาพยนตร์ที่วางไคลแม็กซ์ไว้ตอนจบ


            การย้ายตัวที่น่าเซอร์ไพรส์ ทำเอาแฟนบอลตาค้าง มีให้เห็นในทุกซัมเมอร์


            หนนี้ก็เช่นเดียวกัน เป็นซัมเมอร์แห่งความบ้าคลั่งสำหรับพรีเมียร์ลีก อังกฤษ


            835 ล้านปอนด์ คือยอดรวมที่ 20 สโมสรในพรีเมียร์ลีก ใช้รวมกันในการกวาดซื้อนักเตะในปีนี้ ทำลายสถิติเดิมของซัมเมอร์ที่แล้ว 630 ล้านปอนด์ ลงอย่างราบคาบ


            แน่นอนว่ายุคนี้ พรีเมียร์ คือหมายเลข 1 ของการใช้เงิน ลีกใหญ่อื่นๆ ที่ใช้เงินมากรองลงไปมีดังนี้


            ลา ลีกา ใช้ 425 ล้านปอนด์ นำโดยทีมหัวแถวอย่าง เรอัล มาดริด, บาร์เซโลน่า และ แอตเลติโก มาดริด ขณะที่สโมสรอื่นๆ การเงินเป็นรองแบบคนละเรื่อง


            ด้าน อิตาลี แม้จะเคยเป็นจอมทุ่ม แต่ด้วยการเงินที่ง่อนแง่น พวกเขาเลยใช้ไปเพียง 260 ล้านปอนด์เท่านั้น ยิ่งกับสโมสรอย่าง เอซี มิลาน ด้วยแล้ว อาศัยยืมจนจัดทีมได้เต็มทีม


            บุนเดสลีกา เยอรมัน ลีกที่มีความเสถียรของการเงินมากที่สุด พวกเขาไม่ใช่นักช็อปโดยธรรมชาติ และเอาเข้าจริงคงมี บาเยิร์น มิวนิค กับ โวล์ฟสบวร์ก และ ดอร์ทมุนด์ เท่านั้นที่พร้อมจ่ายเงินก้อนโตสักก้อน แต่ก็ไม่บ่อยนัก บุนเดสลีกา กดไป 250 ล้านปอนด์


            ส่วน ลีก เอิง ที่เคยมี ปารีส แซงต์-แชร์กแมง กับ โมนาโก เป็นหัวหอกนักช็อป ปีนี้โดนกฎ ไฟแนนเชียล แฟร์เพลย์ จาก ยูฟ่า เข้าไปเลยกระอัก กระดิกตัวไม่ออก รวมแล้วใช้กันไป 100 ล้านปอนด์เท่านั้น (เฉพาะค่าตัว ดาวิด ลุยซ์ คนเดียวก็ปาไปครึ่งแล้ว)


            ตัวเลขรวมการใช้เงินของแต่ละลีกนั้น สตีฟ ครอสส์แมน นักข่าวของ บีบีซี จำแนกออกให้เห็นชัดว่า ''พรีเมียร์ลีก กวาดเรียบ และมีแค่ สเปน ที่ใกล้เคียงที่สุด ทั้ง ลีก เอิง และ เซเรีย อา ลำบากในปีนี้ เปแอสเช กับ โมนาโก ใช้เงินน้อย 75% จากปีที่แล้ว''


            ''ใน ลา ลีกา นั้น 3 ทีมที่ใช้เงินเยอะสุด ใช้เงินนำหน้า 3 ทีมใช้เงินเยอะสุดของพรีเมียร์ลีก กระทั่งมีการเซ็น ฟัลเกา ของแมนฯ ยูไนเต็ด นั่นแหละที่ทำให้ พรีเมียร์ลีก แซงนำ''


            ''นักเตะอย่าง มาริโอ มานด์ซูคิช, ฮาเมส โรดริเกซ และ หลุยส์ ซัวเรซ ย้ายมาด้วยราคามหาศาล''


            ''ในเยอรมันนั้น ทีมที่ใช้เงินเกือบทั้งหมดจากยอด มาจากทีมไม่กี่ทีม ว่ากันจริงๆ คือ 2 ด้วย''


            ''81 ล้านปอนด์มาจากการใช้เงิน โบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ และ บาเยิร์น มิวนิค บวกกับ 20 ล้านปอนด์จาก ฮัมบูร์ก และ 3 ทีมนี้ใช้เงินไปเกือบครึ่งของยอดรวมแล้ว''


            การโฟกัสไปที่ พรีเมียร์ลีก อังกฤษ ถือว่าเป็นเรื่องน่าสนใจ เพราะนาทีนี้ นี่คือลีกที่มีมูลค่าสูงที่สุดทั้งในแง่การตลาดและในแง่ของมูลค่ารวมของนัก เตะ


            พรีเมียร์ลีก มีจำนวนทีมที่พร้อม ''จ่าย'' มากกว่าลีกอื่นๆ


            ไม่ใช่ 3 หรือ 4 หรือ 5 ทีมเท่านั้น ลีกสูงสุดเมืองผู้ดี มีสโมสรที่ใช้จ่ายมือเติบได้เกือบครึ่งของลีก


            จากตัวเลข 835 ล้านปอนด์นั้น 2 ในสนามหรือ 530 ล้านปอนด์ เป็นการจ่ายออกไปให้กับสโมสรนอกประเทศ ส่วนอีก 305 ล้านปอนด์ เป็นการซื้อตัวภายในประเทศ


            มีการเก็บตัวเลขกันออกมาแล้ว ในจำนวนทีมที่ใช้จ่ายเงิน ท็อป 10 ของยุโรป หน้าร้อนนี้ สโมสรจากอังกฤษติดโผเข้ามาถึง 6 ทีม แบ่งให้ สเปน 3 ทีม และอีก 1 เป็น อิตาลี


            มีการเปิดเผยว่า เงินที่เข้ากระเป๋า 20 ทีมในพรีเมียร์ลีก ในฤดูกาลนี้ จากค่าลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดนั้นมหาศาลเหลือเกิน
            นั่นคือตัวเลข 3,018 ล้านปอนด์ ที่มากกว่าสัญญาเดิมถึง 70%


            แม้ตัวเลขจากหลายแหล่งไม่ตรงกัน อาจด้วยเรื่องหน่วยเงิน และรายละเอียดยิบย่อย แต่อย่างไรก็ตาม แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด คือจอมทุ่มอันดับ 1 ประจำหน้าร้อนนี้


            อย่างไรก็ดี แม้จอมทุ่มจะเป็นอังกฤษ แต่หากนับเฉพาะรายบุคคลแล้วนั้น สถิติแพงสุดประจำตลาดนักเตะ ในโลกตอนนี้ 3 แข้งค่าตัวแพงสุดในโลก นั้นเป็นการย้ายจาก พรีเมียร์ลีก ไปสู่ ลา ลีกา


            และเป็นฤดูกาลที่ 2 ติดต่อกันแล้ว ที่นักเตะค่าตัวแพงสุดประจำหน้าร้อนคือการย้ายจาก พรีเมียร์ลีก ไป ลา ลีกา นั่นคือ แกเร็ธ เบล กับ หลุยส์ ซัวเรซ ในปีนี้


            อังเคล ดิ มาเรีย อาจมาทำลายสถิติค่าตัวแพงสุดของเกาะอังกฤษ ด้วยป้ายราคา 59.7 ล้านปอนด์ แต่ยังเทียบไม่ได้กับ ท็อป 4 นั่นคือ แกเร็ธ เบล กับ โรนัลโด้ (เท่ากันที่ 82.75 ล้านปอนด์), หลุยส์ ซัวเรซ (71.28 ล้านปอนด์) และ ฮาเมส โรดริเกซ (65 ล้านปอนด์)


            ถ้ามองลงไปในการใช้เงินของแต่ละสโมสรต้องถือว่า ปัจจัยรอบด้านที่ส่งผลมีอยู่หลายอย่าง 


            ด้านแรก ด้านที่กระตุ้นให้เกิดการลงทุนมหาศาล


            มีเงินพร้อมอยู่แล้ว และต้องการต่อยอดความสำเร็จ (บาเยิร์น มิวนิค, เชลซี)


            เงินต่อเงิน ต้องการอยู่รอดในลีกสูงสุด (เซาธ์แฮมป์ตัน) หรือสโมสรต้องการหวนมาประสบความสำเร็จและเข้าไปเล่นในฟุตบอล ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก เพื่อกวาดค่าลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสด (แมนฯ ยูไนเต็ด, ลิเวอร์พูล, สเปอร์ส, อาร์เซน่อล, โรม่า)


            สถานะความเป็นทีมใหญ่ สถานะความเป็นทีมที่อุดมไปด้วยนักเตะเกรดเวิลด์คลาส (เรอัล มาดริด, บาร์เซโลน่า)


            ปีนี้เป็นปีทัวร์นาเมนต์ใหญ่ หมายความว่า นักเตะที่เปรี้ยงปร้างจากฟุตบอลโลก หรือ ยูโร จะโดนไล่ล่าเป็นพิเศษ (โทนี่ โครส, ฮาเมส โรดริเกซ และ เกย์เลอร์ นาบาส ของ เรอัล มาดริด)


            ด้านสอง ด้านที่บีบให้หยุดชะงัก หรือบีบให้ต้องขายนักเตะฝีเท้าดีที่มีในครอบครอง


            โดนกฎไฟแนนเชียลแฟร์เพลย์ และจะเป็นที่มาของการเจ๊ง (แมนฯ ซิตี้, เปแอสเช, โมนาโก) หรือการลงทุนในตลาดนักเตะครั้งก่อนนั้น ไม่สามาถช่วยทีมได้ตามเป้า


            นอกจากนั้นแล้ว การตัดสินใจขึ้นอยู่กับงบ ที่อาจผกผันมากน้อยที่มาจากการปล่อยตัวนักเตะที่มีอยู่ออกไปด้วย


            ลิเวอร์พูล ใช้เงินในหน้าร้อนนี้ไป 117 ล้านปอนด์ โดยพวกเขาได้เงินจาก หลุยส์ ซัวเรซ มา 71.28 ล้านปอนด์


            เงินของ ลิเวอร์พูล ราว 50 ล้านปอนด์ โดนจ่ายไปให้กับ เซาธ์แฮมป์ตัน ซึ่งก็เป็นผลให้ทีมนักบุญกลายเป็นเซอร์ไพรส์ ใช้เงินติดท็อป 10 ของยุโรป ด้วยยอดรวม (65 ล้านปอนด์) และเป็นทีมเดียวในท็อป 10 ที่มีผลประกอบการเป็นบวก (กำไร 41 ล้านปอนด์)


            ตัวอย่างนี้ เคยเกิดขึ้นกับ สเปอร์ส มาแล้วในหน้าร้อนปีก่อน 2013 เมื่อพวกเขากดค่าตัวของ แกเร็ธ เบล มา 82.75 ล้านปอนด์ (ตัวเลขจาก transferลป.arkt) ทำให้พวกเขามีกำลังซื้อถึง 110 ล้านปอนด์ด้วยกัน


            หากเรามองการทำธุรกิจในตลาดซื้อขายนักเตะเป็นหุ้น ถ้าเฝ้ามองมานานพอ จะจับจุดได้ว่าหุ้นตัวไหนหรือสโมสรไหน มีแนวโน้มที่ผิดปกติบ้าง


            อาร์เซน่อล ทำเซอร์ไพรส์ในปีที่แล้ว รวมถึงปีนี้ ด้วยการทุ่มซื้อ เมซุต โอซิล 42.5 ล้านปอนด์ กับ อเล็กซิส ซานเชซ 37 ล้านปอนด์


            ลิเวอร์พูล ยังคงมีแนวโน้มคล้ายเดิม ไม่มีผู้เล่นค่าตัวระดับหวือหวา แต่เน้นซื้อหลายตัว หว่านอุดรอยรั่วในแต่ละตำแหน่ง


            บาร์เซโลน่า มาพร้อมกับการกระชากดาวดังเข้าสักกัด ปีหรือสองปีครั้ง


            เรอัล มาดริด ไล่ล่าแข้งระดับพ้นล้านทุกปี


            แต่ที่เหนือความคาดหมายชนิดช็อกนักเล่นหุ้นมากที่สุดคือ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด


            ตามปกติแล้ว ปีศาจแดง จะคว้านักเตะเข้ามาไม่เยอะ และหากจะมีตามเข้ามามักเป็นพวกดาวรุ่งราคาถูกๆ ไว้เพื่ออนาคตเสียมากกว่า


            นอกจากนั้น พวกเขายังถือเป็นทีมที่ค่อนข้าง ''เขียม'' เมื่อเทียบกับขนาดและชื่อเสียงของสโมสร


            ผู้เล่นระดับ 20 กว่าล้านปอนด์ขึ้นไปนั้น นานๆ จะมีสักที


            สถิติเดิมค้างเติ่งอยู่กับ 30.75 ล้านปอนด์ของ ดิมิทาร์ เบอร์บาตอฟ อยู่นาน จนฤดูกาลที่แล้วมีจุดเปลี่ยนหลายอย่าง


            การไม่ประสบความสำเร็จ ทำให้พวกเขาเร่งทุบสถิติตัวเองหนึ่งยกกับ ฆวน มาต้า 37 ล้านปอนด์


            มีรายงานระบุว่า สโมสรที่แม้ไม่ได้ไป ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก แต่ก็มีงบให้ช็อปปิ้งได้ถึง 200 ล้านปอนด์


            แต่ที่ผิดคาดก็คือ พวกเขาใช้เกือบทั้งหมดนั้นในซัมเมอร์เดียว


            เรื่องของการวิเคราะห์หมากการซื้อตัว เป็นอีกเรื่อง แต่การใช้เงินเป็นอีกเรื่อง


            พวกเขาวอดวายเป็นสถิติไปกับ อังเคล ดิ มาเรีย ซึ่งเป็นผู้เล่นระดับเกรด เอ ที่นานๆ ครั้งพวกเขาจะยอมทุ่มซื่อเข้ามาร่วมทีม


            หนำซ้ำในวันสุดท้ายของตลาดยังอาศัยความไว ทุ่มยืม ราดาเมล ฟัลเกา ตัดหน้าหลายๆ ทีมใหญ่ 


            ซัมเมอร์นี้ปีศาจแดงไม่มีล้อเล่น ไม่มีพวกโนบอดี้ ประเภทใครวะ? อย่างสมัยที่พวกเขาเคยดึง โซรัน โทซิช, ชิชาริโต้, เบเบ้, คริส สมอลลิ่ง อีกแล้ว


            ลุค ชอว์, อันเดร์ เอร์เรร่า, มาร์กอส โรโฮ, อังเคล ดิ มาเรีย, ดาลี่ย์ บลินด์ และ ฟัลเกา คือแข้งระดับชื่อดังทั้งสิ้น


            แมนฯ ยูไนเต็ด ตกอยู่ในสถานะเดียวกับที่ เรอัล มาดริด ทำ ในการทวงความยิ่งใหญ่คืนจากบาร์เซโลน่า และเป้าหมาย ลา เดซีม่า


            สถานะเดียวกับที่ แมนเชสเตอร์ ซิตี้ กับ เชลซี เป็นเมื่อครั้งที่พวกเขาต้องการก้าวมาทาบเงาความยิ่งใหญ่ของปีศาจแดง


            หรือเป็นอย่างที่ โมนาโก กับ ปารีส แซงต์-แชร์กแมง เป็นครั้งที่อยากจะเอาชนะ โอลิมปิก ลียง, โอลิมปิก มาร์กเซย หรือ ลีลล์


            ทุกทีมต้องรักษาสมดุล ทั้งเรื่องของขุมกำลังก็ดี หรือจะเป็นเรื่องงบค่าเหนื่อยก็ดี


            แมนฯ ยูไนเต็ด ตัดสินใจปล่อย ชิชาริโต้ ไป มาดริด และ แดนนี่ เวลเบ็ค ซึ่งถือเป็นเด็กปั้น เป็นเด็กแมนเชสเตอร์แท้ๆ ไป อาร์เซน่อล ด้วยค่าตัว 16 ล้านปอนด์ เพราะพวกเขาดันกระชาก ฟัลเกา มาแล้ว


            การทุ่มมหาศาลแบบนี้มีได้ไม่ทุกครั้ง ต่อให้ แมนฯ ยูไนเต็ด จะเป็นทีมที่ฟันค่าสปอนเซอร์หน้าอกเป็นสถิติ และในปีหน้าพวกเขาจะเริ่มแคมเปญสปอนเซอร์กับ อาดิดาส ที่เป็นสถิติโลกเช่นกัน


            ทุ่มแหลกแบบนี้เป็นเพียงการจุดระเบิดเท่านั้น หากวิ่งไปบนเส้นทางแล้วประคองไม่ได้ ไม่มีสโมสรไหนสามารถบ้าคลั่งขนาดนี้ได้ตลอดไป


            เชลซี กับ แมนฯ ซิตี้ เป็นตัวอย่างที่ดีของการทุ่ม แต่ตั้งลำได้เร็ว ดูแล้วสถานะของพวกเขาไม่มีวันง่อนแง่นในเร็วๆ นี้แน่


            สถานการณ์ทั้งหลายบีบให้ แมนฯ ยูไนเต็ด ต้อง ''คลั่ง'' ในหน้าร้อนนี้


            แล้วก็เชื่อว่า ตราบใดที่เป้าหมายของวงการลูกหนังคือเงินต่อเงิน ต้องการหารายได้ให้มากที่สุด ตราบนั้น การลงทุนชนิดบ้าคลั่งก็ยังจะเกิดขึ้นอยู่ร่ำไป


            หน้าร้อนนี้เป็น แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด หน้าร้อนต่อไปจะเป็นสโมสรไหน ปีหน้ารู้กัน


 รายละเอียดท็อป 10 ทีมที่ใช้เงินเยอะสุด

1. แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด (อังกฤษ)
            เข้า : อังเคล ดิ มาเรีย (เรอัล มาดริด 59.7 ลป.), ลุค ชอว์ (เซาธ์แฮมป์ตัน, 31.5 ลป.), อันเดร์ เอร์เรร่า (แอธ.บิลเบา, 29 ลป.), มาร์กอส โรโฮ (สปอร์ติ้ง, 16 ลป.), ดาลี่ย์ บลินด์ (อาแจ็กซ์, 14 ลป.), วานย่า มิลินโควิช (วอจโวดิน่า, ไม่เปิดเผย), ราดาเมล ฟัลเกา (โมนาโก, ยืม 6 ลป.)
            รวม : 156.2 ล้านปอนด์
            ออก : ชินจิ คางาวะ (ดอร์ทมุนด์ 6.3 ลป.), อเล็กซ์ บุทท์เนอร์ (ดินาโม มอสโก, 5.6 ลป.), ปาทริซ เอวร่า (ยูเวนตุส, 2.5 ลป.) เบเบ้ (เบนฟิก้า, 2.4 ลป.), ริโอ เฟอร์ดินานด์ (คิวพีอาร์, ฟรี), เนมานย่า วิดิช (อินเตอร์, ฟรี), เฟเดริโก้ มาเคด้า (คาร์ดิฟฟ์, ฟรี), แจ็ค บาร์มบี้ (เลสเตอร์, ฟรี), หลุยส์ โลว์รี่ย์ (เลสเตอร์, ฟรี) ไรอัน กิ๊กส์ (รีไทร์), อังเคโล่ เอ็นริเกซ (ดินาโม ซาเกร็บ, ยืม), นานี่ (สปอร์ติ้ง, ยืม), วิลฟรีด ซาฮา (พาเลซ, ยืม) ชิชาริโต้ (เรอัล มาดริด, ยืม), ทอม ลอว์เรนซ์ (เลสเตอร์, 1 ลป.), แดนนี่ เวลเบ็ค (อาร์เซน่อล, 16 ลป.), นิค พาวล์ (เลสเตอร์, ยืม), ไมเคิ่ล คีน (เบิร์นลี่ย์, ยืม)
            รวม : 33.8 ล้านปอนด์
            สุทธิ : -122.4 ล้านปอนด์


2. บาร์เซโลน่า (สเปน)
            เข้า :
หลุยส์ ซัวเรซ (ลิเวอร์พูล, 71.28 ), อิวาน ราคิติช (เซบีย่า, 16 ลป.), มาร์ค-อันเดร เตอร์ สเตเก้น (กลัดบัค, 10 ลป.), เฌเรมี่ มาติเยอ (บาเลนเซีย, 17.6 ลป.), โธมัส แฟร์มาเล่น (อาร์เซน่อล, 9 ลป.), เคลาดิโอ บราโว่ (โซเซียดาด, 10.5 ลป.), ดั๊กลาส (เซา เปาโล, 3.5 ลป.)
            รวม : 137.88 ล้านปอนด์
            ออก : เชส ฟาเบรกาส (เชลซี, 30 ลป.), อเล็กซิส ซานเชซ (อาร์เซน่อล, 37 ลป.), อเล็กซ์ ซง (เวสต์แฮม, ยืม), บิคตอร์ บัลเดส (หมดสัญญา), เคราร์ด เดวโลเฟว (เซบีย่า, ยืม), คริสเตียน เตโย่ (ปอร์โต้, ยืม), โบยาน เกร์กช (สโต๊ค, 1.5 ลป.), โจนาธาน โดส ซานโตส บียาร์เรอัล, (1.75 ลป.)
            รวม :70.25
            สุทธิ : - 67.63


3. ลิเวอร์พูล (อังกฤษ)
            เข้า : อดัม ลัลลาน่า (เซาธ์แฮมป์ตัน, 23 ลป.), ลาซาร์ มาร์โควิช (เบนฟิก้า, 20 ลป.), มาริโอ บาโลเตลลี่ (เอซี มิลาน, 16 ลป.), อัลเบร์โต้ โมเรโร่ (เซบีย่า, 12 ลป.), เอ็มเร่ ชาน (เลเวอร์คูเซ่น, 9.8 ลป.), ริคกี้ แลมเบิร์ต (เซาธ์แฮมป์ตัน, 4 ลป.) เดยัน ลอฟเรน (เซาธ์แฮมป์ตัน, 20 ลป.), ดิว็อค โอริกี้ (ลีลล์, 10 ลป.), เควิน สจ๊วร์ต (สเปอร์ส, ฟรี), ฆาเบียร์ มานกีโย่ (แอต มาดริด, ยืม)
            รวม : 117 ล้านปอนด์
            ออก : หลุยส์ ซัวเรซ (บาร์เซโลน่า, 71.28 ลป.), เปเป้ เรน่า (บาเยิร์น 2 ลป.), มาร์ติน เคลลี่ (พาเลซ, 1.5 ลป.), คอนเนอร์ โคดี้ (ฮัดเดอร์สฟิลด์, 500,000), แดเนียล แอ็กเกอร์ (บรอนด์บี้, ไม่เปิดเผย), แจ็ค โรบินสัน (คิวพีอาร์, ไม่เปิดเผย), หลุยส์ อัลเบร์โต้ (มาลาก้า, ยืม), ยาโก้ อัสปาส (เซบีย่า, ยืม), อันเดร วิสดอม (เวสต์บรอมิช, ยืม), ดิว็อค โอริกี้ (ลีลล์, ยืม), แบรด สมิธ (สวินดอน, ยืม), ติอาโก้ อิลอรี่ (บอร์กโดซ์, ยืม), จอร์แดน ไอบ์ (ดาร์บี้, ยืม), เซบาสเตียน โคอาเตส (ซันเดอร์แลนด์, ยืม), อุสซาม่า อัสไซดี้ (สโต๊ค, ยืม)
            รวม : 75.28 ล้านปอนด์
            สุทธิ : - 41.72 ล้านปอนด์


4. เรอัล มาดริด (สเปน)
           เข้า : ฮาเมส โรดริเกซ (โมนาโก, 65 ลป.), โทนี่ โครส (บาเยิร์น, 25 ลป.), ชิชารีโต้ (แมนฯ ยูฯ, ยืม 2.2 ลป.), เกย์เลอร์ นาบาส (เลบันเต้, 8.8 ลป.), 
            รวม : 101 ล้านปอนด์
            ออก : อังเคล ดิ มาเรีย (แมนฯ ยูฯ, 59.7 ลป.), อัลบาโร่ โมราต้า (ยูเวนตุส, 17 ลป.) , นูริ ซาฮิน (ดอร์ทมุนด์, 6 ลป.) ชาบี อลอนโซ่ (บาเยิร์น, 8.8 ลป.), ดีเอโก้ โลเปซ (มิลาน, ฟรี), กาเซมิโร่ (ปอร์โต้, ยืม), เดนิส เชอรีเชฟ (บียาร์เรอัล)
            รวม : 91.5
            สุทธิ : -9.5 ล้านปอนด์


5. แอตเลติโก มาดริด (สเปน)
           เข้า :อองตวน กรีซมันน์ (โซเซียดาด, 26.40 ลป.), มาริโอ มานด์ซูคิช (บาเยิร์น, 19 ลป.), อเลสซิโอ แชร์ชี่ (โตริโน่, 14  ลป.), ยาน โอบลัค (เบนฟิก้า, 14 ลป.), ราอูล ฮิเมเนซ (อเมริกา, 9.25 ลป. ), กีแยร์มี่ ซิกวยร่า (กรานาด้า, 8.8 ลป.), คริสเตียน อันซัลดี้ (เซนิต, ยืม), เฆซุส กาเมซ (มาลาก้า, 2.2 ลป.), มิเกล อังเคล โมย่า (เคตาเฟ่, 2.5 ลป.) เอมิลิอาโน่ เวลาซเกซ (ดานูบิโอ, 1 ลป.)
            รวม : 97.15 ล้านปอนด์
            ออก : ดีเอโก้ คอสต้า (เชลซี, 32 ลป.), เฟลิเป้ หลุยส์ (เชลซี, 16 ลป.), โทบี้ อัลเดอร์ไวเรลด์ (เซาธ์แฮมป์ตัน, ยืม), โชซูอา กีลาโวกี (โวล์ฟสบวร์ก, ยืม 4.5 ลป.), ดาบิด บีย่า (หมดสัญญา), ดีเอโก้ (เฟเนร์บาห์เช่, ฟรี), อาเดรียน (ปอร์โต้, 9 ลป.), โรเบร์โต้ (โอลิมเปียกอส, 5 ลป.), ฆาเบียร์ มานกีโย่ (ลิเวอร์พูล, ยืม), เซร์คิโอ อาเซนโฆ่ (บียาร์เรอัล 4.4 ลป.), เอมิลิอาโน่ อินซัว (ราโย, ยืม)
            รวม : 70.9 ล้านปอนด์
            สุทธิ : -20.27 ล้านปอนด์


6. เชลซี (อังกฤษ)
            เข้า : เชส ฟาเบรกาส (บาร์เซโลน่า 30 ลป.), ดีเอโก้ คอสต้า (แอต.มาดริด, 32 ลป.), เฟลิเป้ หลุยส์ (แอต.มาดริด, 16 ลป.), โลอิก เรมี่ (คิวพีอาร์, 8 ลป.), มาริโอ ปาซาลิช (ไฮจ์ดุ๊ค, ไม่เปิดเผย), ดิดิเย่ร์ ดร็อกบา (กาลาตาซาราย, ฟรี)
            รวม : 86 ล้านปอนด์
            ออก : ดาวิด ลุยซ์ (ปารีส, 50 ลป.), โรเมลู ลูกากู (เอฟเวอร์ตัน, 28 ลป.), เดมบา บา (เบซิคตัส, 8 ลป.),  แอชลี่ย์ โคล (โรม่า, ฟรี), พาทริค ฟาน อานโฮลท์ (ซันเดอร์แลนด์, ไม่เปิดเผย), ซามูเอล เอโต้ (เอฟเวอร์ตัน, ฟรี), แฟร้งค์ แลมพาร์ด (นิวยอร์ก, ฟรี), แซม ฮัทชินสัน (เชฟฯ เว้นส์, ฟรี), เฮนริเก้ อิราลิโอ (รีไทร์), วัลเลซ (วิเทสส์, ยืม), เบอร์ทรานด์ ตราโอเร่ (วิเทสส์, ยืม), ธอร์แกน อาซาร์ (กลัดบัค, ยืม), มาริโอ เปซาลิช (เอลเช่, ยืม), ไรอัน เบอร์ทรานด์ (เซาธ์แฮมป์ตัน, ยืม), กาแอล กากูต้า (ราโย, ยืม), จอห์น สวิฟท์ (ร็อตเธอร์แฮม, ยืม), โอริโอล โรเมอู (บาเลนเซีย, ยืม) คริสเตียน อัตซู (เอฟเวอร์ตัน, ยืม), วิคเตอร์ โมเสส (สโต๊ค, ยืม), มาร์โค มาริน (ฟิออเรนติน่า, ยืม), จอช แม็คอีคราน (วิเทสส์, ยืม), แพทริค แบมฟอร์ด (โบโร่, ยืม), เฟร์นานโด ตอร์เรส (เอซี มิลาน, ยืม) มาร์โค ฟาน เกิงเคล (เอซี มิลาน, ยืม), เนธาเนียล ชาโลบาห์ (เบิร์นลี่ย์, ยืม), จามาล แบล็คแมน (โบโร่, ยืม)
            รวม : 86 ล้านปอนด์
            สุทธิ : 0

7. อาร์เซน่อล (อังกฤษ)
           เข้า : อเล็กซิส ซานเชซ (บาร์เซโลน่า, 37 ลป.), คาลั่ม แชมเบอร์ส (เซาธ์แฮมป์ตัน, 12 ลป.), มาติเยอ เดอบูชี่ (นิวคาสเซิ่ล, 10 ลป.), ดาวิด ออสปิน่า (นีซ, 3 ลป.), แดนนี่ เวลเบ็ค (แมนฯ ยูฯ, 16 ลป.)
            รวม : 78  ล้านปอนด์
            ออก : โธมัส แฟร์มาเล่น (บาร์เซโลน่า, 9  ลป.), โยฮัน ฌูรู (ฮัมบูร์ก, ไม่เปิดเผย), โธมัส ไอส์เฟลด์ (ฟูแล่ม, ไม่เปิดเผย), บาการี่ ซาญ่า (แมนฯ ซิตี้, ฟรี), ลูคัส ฟาเบีนสกี้ (สวอนซี, ฟรี), นิคลาส เบนท์เนอร์ (โวล์ฟสบวร์ก, ฟรี), พาร์ค ชู-ยอง (ปล่อยตัว), เวลลิงตัน ซิลวา (อัลเมเรีย, ยืม), คาร์ล เจนกินสัน (เวสต์แฮม, ยืม), เบนิค อาโฟเบ้ (มิลตัน คีนส์ ดอนส์, ยืม), อิ๊กนาซี่ มิเกล (นอริช, ไม่เปิดเผย), เรียว มิยาอิชิ (ทเวนเต้, ยืม)
            รวม :  9 ล้านปอนด์
            สุทธิ : -69 ล้านปอนด์

8. เซาธ์แฮมป์ตัน
           เข้า : เชน ลอง (ฮัลล์, 12 ลป.), ซาดิโอ มาเน่ (ซัลซ์บวร์ก, 11.8 ลป.), ดูซาน ทาดิช (ทเวนเต้, 10.3  ลป.), เฟรเซอร์ ฟอร์สเตอร์ (เซลติก, 10 ลป.), กราเซียโน่ เปลเล่ (เฟเยนูร์ด, 8 ลป.), โฟลริน กาดอส (สเตอัว, ไม่เปิดเผย), ไรอัน เบอร์ทรานด์ (เชลซี, ยืม), โทบี้ อัลเดอร์ไวเรลด์ (แอต.มาดริด, ยืม)
            รวม :  52.1 ล้านปอนด์
            ออก : ลุค ชอว์ (แมนฯ ยูฯ, 31.5 ลป.), อดัม ลัลลาน่า (ลิเวอร์พูล, 23 ลป.), เดยัน ลอฟเรน (ลิเวอร์พูล, 20 ลป.), คาลั่ม แชมเบอร์ส (อาร์เซน่อล, 12 ลป.), ริคกี้ แลมเบิร์ต (ลิเวอร์พูล, 4 ลป.), บิลลี่ ชาร์ป (ลีดส์, ไม่เปิดเผย), กูลี่ ดู ปราโด้ (ปล่อยตัว), โจนาธาน ฟอร์เต้ (โอลด์แฮม, ฟรี), ดานี่ ออสวัลโด้ (อินเตอร์, ยืม), ยอส ฮอยเฟลด์ (นอริช, ยืม), กัสตัน รามิเรซ (ฮัลล์, ยืม)
            รวม : 90.5 ล้านปอนด์
            สุทธิ : +38.4  ล้านปอนด์

9. แมนเชสเตอร์ ซิตี้ (อังกฤษ)
            เข้า : เอเลียควิม ม็องกาล่า (ปอร์โต้, 32 ลป.), แฟร์นานโด (ปอร์โต้, 12 ลป.), วิลลี่ กาบาเยโร่ (มาลาก้า, 6 ลป.), บรูโน่ ซูคูลินี่ (ราซิ่ง, 3 ลป.), บาการี่ ซาญ่า (อาร์เซน่อล, ฟรี), แฟร้งค์ แลมพาร์ด (นิวยอร์ก, ยืม)
            รวม : 53 ล้านปอนด์
            ออก : ฆาบี การ์เซีย (เซนิต, 13 ลป.), คอสเทล ปันติลิมอน (ซันเดอร์แลนด์, ฟรี), โจลีออน เลสค็อตต์ (เวสต์บรอมวิช, ฟรี) แกเร็ธ แบร์รี่ (เอฟเวอร์ตัน, ฟรี), แจ็ค ร็อดเวลล์ (ซันเดอร์แลนด์, 7 ลป.), เจสัน เดนาเยอร์ (เซลติก, ยืม), ไมกาห์ ริชาร์ดส์ (ฟิออเรนติน่า, ยืม), อัลบาโร่ เนเกรโด้ (บาเลนเซีย, ยืม)
            รวม : 20 ล้านปอนด์
            สุทธิ : -33 ล้านปอนด์


10. โรม่า (อิตาลี)
            เข้า :ฮวน อิตูร์เบ้ (เวโรน่า, 19 ลป.), รัดย่า นาอิงโกลัน (กายารี่, 5.25 ลป.), ดาวิเด้ อัสตอรี่ (กายารี่, ยืม 1.7 ลป.), คอสตาส มาโนลาส (โอลิมเปียกอส, 11 ลป.), ซาลีห์ อูชาน (เฟเนร์บาห์เช่, ยืม 4 ลป.), มาปู ย็องกา เอ็มบีว่า (นิวคาสเซ่ล, ยืม 1 ลป.), แอชลี่ย์ โคล (เชลซี, ฟรี), อันโตนิโอ ซานาเบรีย (ซาสซูโอโล่, 4.3 ลป.) เออร์บี้ เอมานูเอลสัน (มิลาน, ฟรี), โฮเซ่ โฮเลบาส (โอลิมเปียกอส, 800,000), วาเลริโอ แวร์เร่ (อูดิเนเซ่, 1.3 ลป.) เซย์ดู เกย์ต้า (บาเลนเซีย, ฟรี)
            รวม : 48.35 ล้านปอนด์
            ออก : เมห์ดี้ เบนาเตีย (บาเยิร์น, 22.8 ลป.), มาร์กินโญ่ (อัล อิตติฮัด, ยืม 800,000), ทิน เยดวาย์ (เลเวอร์คูเซ่น, ยืม800,000), โดโด้ (อินเตอร์, ยืม 1 ลป.), มาร์โก ดาเลสซานโดร (อตาลันต้า, 1.76 ลป.)
            รวม : 27.16 ล้านปอนด์
            สุทธิ : -21.19 ล้านปอนด์

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

TOP 5 ข่าวในรอบ 3 วัน

อัลบั้มภาพเด็ดๆ

More »

คลิปไฮไลท์

More »