ผลคะแนนและราคา 2 in 1 คะแนนในการแข่งสด ผลการแข่งขัน ตารางการแข่งขัน อัตราต่อรอง ข้อมูล คะแนนบาสเก็ตบอล
ฟุตบอล » ฟุตบอลไทย » ประมูลพรีเมียร์ลีกเดือด!!! แกรมมี่-อาร์เอส-ทรู พร้อมทุ่ม 5 พันล้าน

ประมูลพรีเมียร์ลีกเดือด!!! แกรมมี่-อาร์เอส-ทรู พร้อมทุ่ม 5 พันล้าน

Posted 02/06/2011 by ผู้จัดการ

กลยุทธ์เจ้าบุญทุ่มของทรูวิชั่นส์ ราว 2,000 ล้านบาท เพื่อตัดหน้าทั้งเจ้าเก่าอย่าง อีเอสพีเอ็น และเจ้าของลิขสิทธิ์ทางฟรีทีวีเดิมอย่างทราฟฟิกคอร์เนอร์ รวมถึงผู้ประกอบการอีกหลายราย เพื่อคว้าลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดฟุตบอลพรีเมียร์ลีก 3 ฤดูกาล ตั้งแต่ 2007/2008-2009/2010 กำลังจะย้อนคืนกลับมาสนองตัวเอง 


 
  
 

*วงในอาร์เอส เผย งานนี้ “เฮียฮ้อ” ทุ่มไม่อั้น
*ทรู วิชั่นส์ เกทับมากกว่า 5 พันล.ก็พร้อมสู้
*ส่วนอากู๋ มาแปลกชวนทรูฯ จับมือร่วมกัน
*ชี้อีก 3 ปีค่าลิขสิทธิ์พรีเมียร์ทะลุ 6 หมื่นล้าน


     หลังจากที่ “อรรถพล ณ บางช้าง” รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายรายการ บริษัท ทรู วิชั่นส์ จำกัด (มหาชน) ออกมาเปิดเผยกับสื่อมวลชนว่า ทรูวิชั่นส์ กำลังเผชิญกับความยากลำบากในการประมูลลิขสิทธิ์พรีเมียร์3 ฤดูกาลต่อไปคือ 2012/13, 2013/14 และ 2014/15 ที่จะเริ่มในช่วงปลายปีนี้ เพราะมียักษ์ใหญ่หลายรายกระโจนเข้ามาลงสนามแห่งนี้ จนทำให้ราคาลิขสิทธิ์จากเดิม 2 พันล้านบาท ถูกปั่นจนสูงขึ้นเกือบถึง 4 พันล้านบาท

     ว่ากันว่า สาเหตุสำคัญที่ผู้ประกอบการในประเทศไทยให้ความสนใจในลิขสิทธิ์กีฬามากขึ้น เนื่องมาจากความสำเร็จทั้งรายได้และกำไรของ บมจ.อาร์เอส จากการบริหารลิขสิทธิ์ฟุตบอลโลก 2010 ที่ผ่านมานั่นเอง

     แน่นอนว่า แม้ “อรรถพล” จะไม่เอ่ยชื่อยักษ์ใหญ่เหล่านั้นโดยตรง แต่ในวงการก็เป็นที่ทราบกันดีว่า การประมูลลิขสิทธิ์พรีเมียร์ลีก ซึ่งถือว่าเป็น “The Winner” ของทัวร์นาเมนต์ฟุตบอลที่ล้ำค่าที่สุดในเมืองไทยในยุคนี้ จะมีเพียงแค่ 3 บริษัทยักษ์ใหญ่เท่านั้นที่มีความพร้อมในระดับนี้

     ไม่เพียงแค่เม็ดเงินเท่านั้น แต่บริษัทเหล่านี้ต้องมีโมเดลธุรกิจในการบริหารคอนเทนต์ที่ได้รับมาอย่างมืออาชีพ เพื่อต่อยอดรายได้จากเม็ดเงินที่ทุ่มประมูลลงไปให้งอกเงยออกมาเป็นกำไรให้ได้ ภายในช่วงระยะเวลาของลิขสิทธิ์ที่ได้รับมา

     “คุณก็รู้งานช้างระดับนี้ ในเมืองไทยก็มีแค่ อาร์เอส, แกรมมี่ และทรูวิชั่นส์ เท่านั้น ส่วนรายอื่นๆ คงไม่ไหว เพราะไม่ใช่แค่เงินถึงอย่างเดียว ตัวอย่างก็เห็นมาหลายรายแล้ว ถึงจะได้ลิขสิทธิ์มานอนกอด แต่ถ้าต่อยอดรายได้ไม่เป็นก็ขาดทุนไม่เป็นท่า” ทีมงานจากผู้ร่วมประมูลรายหนึ่ง เปิดเผยกับ “ผู้จัดการ 360 องศา รายสัปดาห์”

     แหล่งข่าวรายเดิมยังย้ำอีกว่า “เมื่อก่อนลิขสิทธิ์พรีเมียร์ลีกในประเทศไทยไม่มีค่ามากนัก ตลาดเป็นของผู้ซื้อ แต่ตอนนี้กลับกัน ตลาดเป็นของผู้ขายแล้ว เพราะฉะนั้น สถานการณ์การแข่งขันชิงลิขสิทธิ์ที่จะเกิดขึ้นครั้งต่อไป ย่อมไม่ใช่การแข่งขันแบบปรกติอีกต่อไป”


 


เฮียฮ้อสั่ง!
มากกว่า 5 พันล้านก็สู้

     “เฮียบอกว่า งานนี้อย่างไรก็จะต้องเอาให้ได้” เป็นคำพูดของคนใน บมจ.อาร์เอส เมื่อถูกถามถึงการเตรียมพร้อมที่จะร่วมประมูลในงานนี้ หลังจากที่ประสบความสำเร็จอย่างเกินคาด จากการบริหารสิทธิ์ฟุตบอลโลก 2010 อย่างเป็นทางการในประเทศไทย ทำให้ไตรมาส 2 ปี 2553 อาร์เอสมีกำไรสุทธิพุ่งสูงถึง 145 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 784% เทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิเพียง 160 ล้านบาท

     ส่งให้ “เฮียฮ้อ” สุรชัย เชษฐโชติศักดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.อาร์เอส กลายเป็น Idol (บุคคลต้นแบบ) ทางด้านธุรกิจกีฬาแบบชั่วข้ามคืน ถึงขนาดที่ “ค่ายสิงห์” ส่งเทียบเชิญเข้าร่วมเป็นวิทยากรในกิจกรรม “Idol Forum” ของบริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ ในหัวข้อ “ฟุตบอลสอนธุรกิจ...ให้แนวคิดสู่ความสำเร็จ”

     ที่สำคัญในวันนี้ อาร์เอส ยังถือลิขสิทธิ์ฟุตบอลในปี 2014 อยู่ และคาดว่าในปีหน้าหากฟีฟ่าเปิดประมูลลิขสิทธิ์ ปี 2018 อาร์เอสก็จะเข้าร่วมประมูลต่อ เพราะมีประสบการณ์มาจากครั้งล่าสุด และยังหมายรวมไปถึงการกว้านลิขสิทธิ์ฟุตบอลระดับโลก อย่างฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติยุโรป และระดับทัวร์นาเมนต์ใหญ่ โดยเฉพาะ พรีเมียร์ลีก, ลา ลีกา, บุนเดสลีกา, กัลโช่

     “ตามข่าวที่ออกมาบอกว่าราคาจะสูงถึง 4 พันล้านบาท แต่เฮียบอกว่า อย่าว่าแต่ 4 พันล้านบาท ถึง 5 พันล้านเฮียก็ยอมสู้เพราะคิดว่าคุ้ม” แหล่งข่าวผู้ใกล้ชิดสุรชัย บอกกับ “ผู้จัดการ 360 องศา รายสัปดาห์”

     รายงานข่าวยังระบุอีกว่า งานนี้ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.อาร์เอส ยืนยันว่า จะไม่ยอมฮั้วกับใคร ไม่ว่าราคาจะขึ้นไปสูงแค่ไหนก็ตาม

 

     “คนที่ออกมาพูดให้จับมือกันประมูล คงไม่เข้าใจว่าข้อเท็จจริงมันเป็นอย่างไร เรื่องนี้มันก็เหมือนกับการที่จะให้พรรคประชาธิปัตย์กับพรรคเพื่อไทยร่วมกันจัดตั้งรัฐบาล มันเป็นไปไม่ได้ และผมเชื่อว่าหากอาร์เอสซื้อมาได้จะมีสปอนเซอร์หลายรายพร้อมที่จะสนับสนุนเรา”

     นอกจากนี้ แหล่งข่าวยังปฏิเสธถึงลิมิตจำนวนในการประมูลครั้งนี้ว่าเตรียมไว้เท่าไร หากคู่ต่อสู้ยังไม่ยอมแพ้ แต่เขาก็ย้ำว่า ทางอาร์เอสมีทุนมากพอที่จะแข่งขันประมูลในครั้งนี้

     “ผมเชื่อว่าเฮียฮ้อมีหน้าตักอยู่ แต่จะให้บอกว่าหยุดแค่ไหนคงบอกไม่ได้ มันเป็นเทคนิคในการประมูล งานนี้ฝรั่งมันต้องการแค่เงินอย่างเดียว ใครให้สูงก็ได้ไป นี่ยังถูกกว่าฮ่องกง, สิงคโปร์, มาเลเซีย, อินโดนีเซีย เขาคิดเป็นฤดูกาลเลย ไม่ได้เหมา 3 ฤดูกาลเหมือนอย่างของไทย และฤดูกาลหนึ่งๆ ก็เกือบ 2,000 ล้านแล้ว”

     อย่างไรก็ตาม เฮียฮ้อก็ได้ออกมาให้สัมภาษณ์กับ “ผู้จัดการ 360 องศา รายสัปดาห์” ในภายหลังว่า

     “สปอนเซอร์อาจจะกังวลว่าถ้าเราซื้อมาแพงแล้วจะขายแพงหรือเปล่า ผมขอยืนยันว่า ไม่จำเป็นต้องขายแพง ส่วนผู้ชมก็ไม่ต้องกังวลว่าจะมีโฆษณาจนเกลื่อนจอ บอลโลกที่ผ่านมาเป็นตัวอย่างผมก็ถ่ายทอดให้โดยไม่ต้องมีโฆษณาคั่น แต่ผมก็สามารถทำกำไรได้ ส่วนการชมฟุตบอลโลก 2014 และพรีเมียร์ลีก อาจจะมีช่องพิเศษที่อาจต้องชำระเงินดู แต่จะเป็นในราคาที่ผู้บริโภคเข้าถึงได้และรับได้อย่างแน่นอน”

ทุ่ม 50 ล้านผุดช่องกีฬา
ใช้โมเดลบอลโลกสร้างรายได้

     ไม่เพียงเท่านั้น เพื่อให้การต่อยอดคอนเทนต์ทางด้านกีฬาได้อย่างสมบูรณ์แบบ สุรชัยบอกว่า อาร์เอสได้เตรียมแผนที่จะเปิดช่องทีวีดาวเทียมกีฬาเพิ่มเติมอีก 1 ช่องภายในปลายปีนี้หรือต้นปีหน้าโดยลงทุนประมาณ 50 ล้านบาท

     ซีอีโออาร์เอส อธิบายว่า กีฬาฟุตบอลในปัจจุบันก็มิใช่แค่เพียงกีฬา ที่แข่งขันกันบนสนามหญ้าเท่านั้น หากแต่เมื่อนำมาบริหารอย่างมีระบบ ก็จะกลายเป็นอีกหนึ่งคอนเทนต์ที่มีศักยภาพในการที่จะไปนำเสนอต่อตัวเจ้าของสินค้าประเภทต่างๆ ที่มองว่ากีฬาประเภทนี้จะเป็นกลไกในการสร้างแบรนด์ให้เป็นที่ยอมรับและรู้จักในระดับโลก เรียกได้ว่าเป็นธุรกิจที่สามารถต่อยอดความสำเร็จ และทำรายได้อย่างมหาศาลสู่อาร์เอส

     สุรชัย อธิบายว่า การต่อยอดรายได้จะเกิดขึ้นจากช่องทางเทคโนโลยี ไม่ว่าจะเป็นการรับชมผ่านทางโทรศัพท์เคลื่อนที่ หรือดูผ่านอินเทอร์เน็ตได้ นอกจากนั้นยังมีการนำเสนอฟุตบอลมากกว่าการแข่งขันบนสนามหญ้า แน่นอนว่า อาร์เอสจะนำต้นแบบความสำเร็จจากการหารายได้ของฟุตบอลโลก 2010 มาใช้ ในการบริหารลิขสิทธิ์การถ่ายทอดฟุตบอล ในลักษณะที่เป็นผู้ดำเนินกิจกรรมทางการตลาดแต่เพียงผู้เดียว หากองค์กรหรือบริษัทไหนๆ จะนำชื่อของฟุตบอลโลกเข้าไปเกี่ยวข้อง ต้องมาขออนุญาตจากทางอาร์เอสเสียก่อน โดยการใช้กลยุทธ์การตลาด 360 องศา

     ทั้งการหาสปอนเซอร์สนับสนุนการถ่ายทอด การสร้างรายได้จากการจัดกิจกรรมสนับสนุนการแข่งขัน การจัดรายการโปรโมตการแข่งขันผ่านสื่อที่มีอยู่ ทั้งโทรทัศน์ วิทยุ หรือเว็บไซต์ การนำคอนเทนต์ต่างๆ ของการแข่งขัน เช่น ภาพนักฟุตบอล ทีมฟุตบอล เทปการแข่งขัน คลิปการทำประตู ฯลฯ ออกมาหารายได้จากการขายสินค้า หรือการดาวน์โหลด

     เขายอมรับว่า การถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลโลก ปี 2014 ที่อาร์เอสเป็นผู้บริหารลิขสิทธิ์ จะมีทั้งรูปแบบดูฟรีบางส่วนผ่านช่องฟรีทีวี และเก็บเงินเพื่อดูครบทุกคู่ ทุกแมตช์ผ่านช่องทีวีดาวเทียมที่อาร์เอสจะเปิดตัวในปีหน้า และเชื่อว่าในปี 2557 ครัวเรือนไทยกว่า 90% จะรับชมช่องรายการผ่านจานดาวเทียมและเคเบิลทีวี ซึ่งจะมีตัวเลขผู้ชมจำนวนมากที่สปอนเซอร์ให้ความสนใจลงโฆษณา

     “ปัญหาการบริหารลิขสิทธิ์กีฬาระดับโลกในตลาดไทย คือ คนไทยจะติดนิสัย “ดูฟรี” แต่ความจริงไม่มีอะไรได้มาฟรี เพราะทุกลิขสิทธิ์ต้องจ่ายเงินในอัตราสูง วันนี้คนไทยต้องยอมรับว่ากีฬาดีๆ ไม่สามารถดูฟรีได้ตลอดไป อาจมีให้ดูฟรีบางแมตช์เท่านั้น”


แกรมมี่แบไต๋ชวนทรูฯลงขัน


     ด้าน “แกรมมี่” ค่ายเพลงยักษ์ใหญ่ของเมืองไทย หลังจากปาดหน้าอาร์เอสเซ็นสัญญากับสหพันธ์ฟุตบอลยุโรป หรือยูฟ่า ในการคว้าลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลระดับโลกรายการสำคัญต่างๆ ของทวีปยุโรป ตลอดระยะเวลา 3 ปี คือระหว่างปี 2011-2013 โดยประเดิมการถ่ายทอดสดฟุตบอลยูโร 2012 ที่โปแลนด์และยูเครนร่วมกันเป็นเจ้าภาพในปี 2012

     ไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม ประธานกรรมการ จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) ยอมรับว่าขณะนี้อยู่ระหว่างการประมูลฟุตบอลพรีเมียร์ลีกของอังกฤษ ทว่าเขาก็ไม่เห็นด้วยกับการที่ทุกฝ่ายจะแข่งทุ่มเม็ดเงินในการประมูลครั้งนี้

     “ผมไม่เข้าใจว่าทำไมเราต้องแข่งกันให้ฝรั่งรวย นโยบายของแกรมมี่ต้องการที่จะร่วมมือเป็นพันธมิตรกับทุกฝ่ายทั้งฟรีทีวีช่องต่างๆ รวมทั้งทรูวิชั่นส์ ในการทำธุรกิจกีฬาร่วมกันและไม่ต้องการแข่งขันแย่งชิงลิขสิทธิ์กีฬา ซึ่งจะทำให้ต้นทุนสูง และสุดท้ายต่างชาติก็จะเป็นผู้รับประโยชน์”

     แหล่งข่าวจากแกรมมี่ เปิดเผยกับ “ผู้จัดการ 360 องศา รายสัปดาห์” ว่า ในการประมูลพรีเมียร์ลีกครั้งนี้ จะมี 3 รูปแบบด้วยกัน 1.ประมูลผ่านอินเทอร์เน็ต คัดเลือกจากที่ใครให้ราคาสูงเป็นผู้ชนะ 2.เสนอแผนตลาดสร้างแบรนด์และการสร้างรายได้เพิ่มเติมร่วมกับการใช้วงเงิน 3.เจ้าของลิขสิทธิ์เป็นผู้คัดเลือกบริษัทร่วมโดยตรง โดยไม่มีการประมูล

     สำหรับแกรมมี่ใช้วิธีที่หนึ่งและวิธีที่สองประกอบกัน ส่วนทรูวิชั่นส์และอาร์เอส คาดว่าจะใช้วิธีที่หนึ่ง ส่วนวิธีที่สามเนื่องจากมีการแข่งขันกันสูง เจ้าของลิขสิทธิ์จึงต้องการให้เปิดประมูลกันมากกว่า

     “แม้ว่าเราจะซื้อด้วยตัวเองได้ แต่นโยบายของแกรมมี่ก็ต้องการเป็นพันธมิตรร่วมมากกว่า นอกจากนี้ที่ผ่านมาในการได้ลิขสิทธิ์เราก็สามารถชนะประมูล โดยใช้รูปแบบที่สองเป็นผลสำเร็จมาแล้ว นั่นคือ ลิขสิทธิ์ยูโร ในมูลค่า 270 ล้านบาท ซึ่งที่ผ่านมามีคนที่ให้เม็ดเงินสูงกว่าเราอีกแต่แกรมมี่ก็ได้มา นั่นพิสูจน์ให้เห็นว่าบางทีการใช้เงินมากเกินไปก็อาจจะไม่ประสบความสำเร็จ อีกประการหนึ่ง เราไม่ใช่ประเทศอย่างมาเลเซีย, ฮ่องกง ซึ่งมีการแข่งประมูลสูงมาก เพราะมีเรื่องการพนันเข้ามาเกี่ยวข้อง”

     เขาเผยต่อว่า นอกจากนี้นโยบายของแกรมมี่หากได้ลิขสิทธิ์ก็จะเน้นตลาดแมส เพื่อทำให้ลิขสิทธิ์เหล่านี้เข้าถึงผู้คนได้ในวงกว้าง ซึ่งตามแผนที่วางไว้นั้น ลิขสิทธิ์พรีเมียร์ แม้จะไม่ดูฟรีแต่ก็จะเก็บค่าสมาชิกในราคาถูกกว่าในตลาดปัจจุบันอย่างแน่นอน

     “แกรมมี่ต้องการฐานสมาชิกมากๆ ไม่ได้ต้องการกลุ่มตลาดบนหรือนิชมาร์เกต คุณลองคิดสมมุติเรามีฐานสมาชิก 10 ล้านคนและเก็บค่าสมาชิกคนละ 100 บาท 1 เดือนเราก็ได้มา 100 ล้านบาทแล้ว นี่ยังไม่รวมรายได้ที่การตลาดที่เรานำมาต่อยอดจากฐานเดิมที่เรามีอยู่ทั้งศิลปิน, ดารา, คอนเทนต์เพลง กิจกรรมอีเวนต์ ดิจิตอล ซึ่งมีรายได้มหาศาล ไม่จำเป็นต้องเรียกเก็บแพงๆ ก็สามารถทำเงินได้”

     หนึ่งในทีมงานด้านธุรกิจกีฬาของแกรมมี่ ชี้ว่า ตัวอย่างการขายสปอนเซอร์ของฟุตบอลยูโรที่แกรมมี่เพิ่งได้สะท้อนข้อเท็จจริงนี้เป็นอย่างดี จากที่มีเวลาขายแพกเกจโฆษณาในทัวร์นาเมนต์นี้เพียงแค่ 2 สัปดาห์เท่านั้น แต่สามารถขายแพกเกจใหญ่ราคาแพกเกจละ 100 ล้านบาท ซึ่งตั้งเป้าไว้ 4 แพ็กเกจได้หมดภายในจำนวนเวลารวดเร็ว

ผ่าโมเดลแกรมมี่
บันเทิงผสมกีฬา


     ธุรกิจบริหารลิขสิทธิ์กีฬาทั้งในและต่างประเทศ ถือเป็น 1 ใน 10 การจัดกลุ่มธุรกิจใหม่ของ จีเอ็มเอ็มในปี 2554 ถึงขนาดที่อากู๋ หรือไพบูลย์ ประธานกรรมการจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ ได้พัฒนาจานดาวเทียมของตัวขึ้นมารองรับช่องรายการทีวีกีฬา ซึ่งตามแผนของอากู๋นั้น แกรมมี่ต้องการมีช่องทีวีดาวเทียมไว้รองรับคอนเทนต์กีฬาและรายการบันเทิงอื่นถึง 100 ช่องภายใน 5-10 ปี

     โดยเฉพาะรายการฟุตบอลสำคัญๆ แกรมมี่จะถ่ายทอดผ่านจานวันสกายเท่านั้น หรือผู้ที่ติดตั้งกล่องรับสัญญานของแกรมมี่ในราคาประมาณ 1,000 กว่าบาทที่กำลังออกวางจำหน่าย ส่วนลูกค้าที่ติดจานดาวเทียมยี่ห้ออื่น หรือไม่มีกล่องรับสัญญาณ จะถูกทำให้เป็นจอดำทันที

     การบริหารลิขสิทธิ์ฟุตบอลยูโร 2012 ถือเป็นการเปิดตัวธุรกิจ “สปอร์ต มาร์เกตติ้ง” ของแกรมมี่ ซึ่งมีความเชี่ยวชาญบริหารลิขสิทธิ์และธุรกิจมีเดีย ถือเป็นธุรกิจหลักของแกรมมี่ เพื่อรองรับธุรกิจบริหารลิขสิทธิ์ ในด้านของมีเดียนั้น ก็จะมีการจับมือกับพันธมิตรทั้งฟรีทีวี มือถือ อินเทอร์เน็ต และดาวเทียม ในการถ่ายทอด และแบ่งผลประโยชน์ในแง่ของโฆษณาร่วมกัน

     แต่ถ้าเป็นฟุตบอลรายการสำคัญ อาทิ ฟุตบอลยูโร 2012 ที่โปแลนด์และยูเครนร่วมกันเป็นเจ้าภาพในปี 2012 หรือพรีเมียร์ลีกในกรณีที่ได้ลิขสิทธิ์ ก็จะเป็นในลักษณะการบอกรับสมาชิก ซึ่งต้องเสียเงินรับชม ล่าสุดแกรมมี่ประกาศชัดแล้วว่าจะเปิดช่องกีฬาในปลายปีนี้อย่างน้อย 3 ช่อง คือ International Sport, Local Sports และ Action Sports

     ส่วนในด้านของกิจกรรมและอีเวนต์นั้น ก็จะใช้กลยุทธ์สปอร์ต มาร์เกตติ้งผสมคอนเทนต์ทางบันเทิง และโชว์บิส ที่มีอยู่ ทำSport Event ระดับโลก ซึ่งจะทำให้สามารถต่อยอดรายได้ โดยการนำกิจกรรมกีฬาสำคัญระดับโลกเข้ามาจัดในเมืองไทย นอกจากนี้ยังมีแผนที่จะสร้าง Talent ทางด้านกีฬา ให้มีมาตรฐานในระดับสากล ซึ่งจะเป็นอีกช่องทางหนึ่งในการสร้างรายได้ อาทิ การจัดเวทีเฟ้นหาดาวรุ่งด้านกีฬา เช่นเดียวกับการเปิด The Star เพื่อคัดเลือกศิลปินดาวรุ่งเข้าสู่วงการบันเทิง เป็นต้น

     ในช่วงแรกแกรมมี่จะถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลชิงแชมป์ยุโรป รุ่นอายุต่ำกว่า 21 หรือยู 21 ที่ประเทศเดนมาร์ก จะเป็นเจ้าภาพระหว่างวันที่ 11-25 มิถุนายนนี้ รวมทั้งสิ้น 15 แมตช์ โดยจะถ่ายทอดสดทางช่อง 3 และโมเดิร์นไนน์ทีวี ระหว่างเวลา 13.00-03.45 น. ทั้งนี้ แกรมมี่ จะนำเสนอรูปแบบการดำเนินรายการแบบใหม่ที่ทันสมัย โดยนำพิธีกรที่มีความรู้ทางกีฬาฟุตบอล มาร่วมกับเหล่าดีเจฝีปากกล้าชื่อดังและศิลปินดาราที่มีชื่อเสียง มาร่วมรายการประมาณ 30 นาที ก่อนเข้าสู่การถ่ายทอดสดการแข่งขันในคู่ต่างๆ

     นอกจากนี้ แกรมมี่และกลุ่มพันธมิตรทางการค้าประกอบด้วย ไทยเบฟฯ, ฮอนด้า, โอสถสภา ยังได้ร่วมทำกิจกรรมต่างๆ ในช่วงก่อนแข่ง ระหว่างพักครึ่ง และหลังการแข่งขันของแต่ละคู่อีกมากมาย

     ประธานกรรมการ จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ กล่าวต่อว่า นอกจากการถ่ายทอดผ่านทางช่อง 3 และโมเดิร์นไนน์ทีวี แล้ว แกรมมี่ยังจะทำการแพร่สัญญาณสดทั้ง 15 คู่ ผ่านทางทีวีดาวเทียมในเครือแกรมมี่ ที่กำลังมาแรงและได้รับความนิยมสูงคือ เพลย์ แชนแนล ของกลุ่มจีทีเอช และหลายช่องทางมีเดียของแกรมมี่ ซึ่งจะเป็นการเพิ่มฐานคนดูฟุตบอลในประเทศให้สูงขึ้น

ทรูวิชั่นส์พร้อมรบ
ประกาศ 5 พันล้านยังไหว


     ส่วนทางฝั่งทรูวิชั่นส์นั้น หลังจากที่เริ่มซื้อลิขสิทธิ์พรีเมียร์ลีกอังกฤษจากราคาต่ำกว่า 1 ล้านดอลลาร์ต่อฤดูกาลเมื่อ 10 ปีก่อนจนถึงบัดนี้นับเป็นน่ากังวลว่า การต่อสัญญาลิขสิทธิ์พรีเมียร์ลีกในครั้งนี้จะเผชิญกับความท้าทายจากคู่แข่งทั้งแกรมมี่และอาร์เอสที่พร้อมจะทุ่มเม็ดเงินจำนวนมหาศาลเพื่อมาต่อยอดธุรกิจกีฬา ที่มองว่าจะเป็นคอนเทนต์ที่จะสร้างรายได้มหาศาล

     องอาจ ประภากมล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารสาย Commercial บมจ.ทรู วิชั่นส์ กล่าวว่า ทรูฯมีกำลังซื้อลิขสิทธิ์ฟุตบอลในราคาสูงได้ไม่แพ้กับคนอื่นอย่างแน่นอน เพราะทรูฯมีรายได้จากคนที่จ่ายค่าสมาชิกเคเบิลทีวี ซึ่งเพียงพอต่อกันลงทุนในการพัฒนาคอนเทนต์ต่อไป

     “กลยุทธ์ของเรา คือ เราจะดึงกีฬาดีๆ จากทั่วโลกเข้ามาอยู่ในทรูฯ ไม่ใช่แค่เพียงฟุตบอลอย่างเดียว อเมริกันฟุตบอล บาสฯ แข่งรถเราก็มีรายการดีๆ มาอยู่กับเรา เพราะเราลงทุนในการหาสิ่งดีๆ ระดับโลกมาให้กับสมาชิก”

     อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันฐานสมาชิกของทรูวิชั่นส์ปัจจุบันมีกว่า 2 ล้านราย กลุ่มคอบอลติดตามดูการแข่งขันทุกแมตช์ จะเป็นสมาชิกแพกเกจโกลด์และแพลทินัมมี 4 แสนราย เป็นฐานสมาชิกที่ค่อนข้างนิ่ง เมื่อเทียบกับแพกเกจตลาดแมสอื่นๆ ที่ไม่มีช่องฟุตบอล ซึ่งมีอัตราการเติบโตต่อเนื่อง ดังนั้นหากพลาดประมูลพรีเมียร์ลีกอังกฤษ เชื่อว่าผลกระทบน่าจะอยู่ในวงจำกัด

     สำหรับปัจจัยที่ว่าหากราคาในการซื้อพรีเมียร์ลีกแพงถึง 5,000 ล้านบาทจะส่งผลให้ราคาสมาชิกเพิ่มขึ้น หรือขายโฆษณาในราคาที่สูงขึ้นนั้น ยังไม่สามารถตอบได้เนื่องจากราคาที่บอกมายังไม่ใช่ราคาที่แท้จริงจึงยังไม่สามารถบอกได้ว่าจะกระทบต่อต้นทุนมากน้อยเพียงใด อย่างไรก็ดี ปีที่ผ่านมาทรูขายค่าโฆษณาให้กับสปอนเซอร์หลัก 30 ล้านบาทต่อสินค้าหนึ่งตัว ส่วนปีหน้าราคาจะสูงหรือต่ำก็ต้องดูที่ต้นทุนสินค้าด้วย

     ขณะนี้รายการฟุตบอลที่ทรูฯถ่ายทอดอยู่มีอยู่หลายรายการ เช่น พรีเมียร์ลีก กัลโช่ ลา ลีกา บุนเดสลีกา ซึ่งแผนในการดึงลิขสิทธิ์ฟุตบอลของทรูฯนั้นจะต้องเป็นรายการที่เอ็กซ์คลูซีฟ เนื่องจากทรูฯเป็นเพย์ทีวี หรือทีวีเสียเงิน ดังนั้น รายการที่ทรูฯนำมาออกอากาศจะต้องเป็นเอ็กซ์คลูซีฟเท่านั้น เพราะคนดูจ่ายเงินแล้วเขาต้องการรายการที่มีคุณภาพ

     สำหรับการต่อยอดจากการถ่ายทอดสดมาเป็นผลิตสินค้านั้นทรูฯไม่ได้ทำ เนื่องจากลิขสิทธิ์ที่ซื้อๆ แต่ลิขสิทธิ์เพื่อถ่ายทอดเท่านั้น แต่เชื่อว่าในอนาคตน่าจะมีการขยายการซื้อสิทธิ์ดังกล่าวเพิ่มขึ้น

     ก่อนหน้านี้ ทำให้ทรู คอร์ปอเรชั่น สามารถสร้างโอกาสให้กับธุรกิจภายใต้อาณาจักรได้อย่างครบวงจร มิใช่เพียงการหาสมาชิกให้กับทรูวิชั่นส์ หากแต่ต่อไปนี้ ลูกค้าของทรูฯจะสามารถรับชมฟุตบอลพรีเมียร์ลีก บนอินเทอร์เน็ต ผ่านทรูออนไลน์ หรือผู้ใช้โทรศัพท์ในรุ่นไฮเอนด์ ก็สามารถรับชมผ่านเครือข่ายทรูมูฟ คอมมูนิตี้ของแฟนบอล จะเกิดขึ้นใหม่ในร้านทรูคอฟฟี่ หรือบนทรูไลฟ์ ภาพนักฟุตบอล ลีลาเด็ด คลิปการทำประตู เพลงเชียร์ หรือแมตช์แห่งความทรงจำ สามารถดาวน์โหลดจากเว็บไซต์ของทรู

     โดยทรูฯเริ่มเดินเครื่องการตลาด เพื่อหาผลตอบแทนคืนจากลิขสิทธิ์พรีเมียร์ลีก ด้วยการจัดโปรโมชั่นให้กับทรูวิชั่นส์ สมัครแพกเกจทรูไลฟ์ ฟรีวิว ด้วยการใช้ทรูมูฟเดือนละ 300บาท หรือสมัครเป็นสมาชิกทรูวิชั่นส์ในซิลเวอร์แพกเกจและทรูโนว์เลจแพกเกจ สามารถสั่งซื้อช่องพรีเมียร์ลีกเพียง 299 บาทต่อเดือน จากราคาปรกติ 399 บาทต่อเดือน ซึ่งจะสามารถรับชมการแข่งขันได้ 3-5 แมตช์ต่อสัปดาห์ และยังสามารถซื้อแบบตลอดฤดูการแข่งขันได้ในราคา 2,299 บาท ต่ำกว่าราคาปรกติถึง 35 % ได้อีกทาง

     อย่างไรก็ดี ปัจจุบันทรูฯได้ขยายวงการถ่ายทอดสดไปบนทรูมูฟ ทรูเน็ต ทรูคอนเทนต์ผ่านทางมือถือหรือแท็บเลตซึ่งเป็นบริการฟรีที่ให้กับสมาชิกทรูฯ เพื่อให้ครบกับความเป็นทรูไลฟ์พลัสเท่านั้น จะมีเล็กน้อยที่ซื้อบริการดังกล่าวโดยไม่ได้เป็นสมาชิก

     หากย้อนหลังไปพบว่าอัตราค่าลิขสิทธิ์ทั้งเอเชีย เพิ่มขึ้นอย่างน่ากลัวในช่วงหลายปีที่ผ่านมา จากการแข่งขันสูงทั้งกับช่องอินเตอร์เนชั่นแนล และการแข่งขันจากผู้ประกอบการรายใหม่ๆ

     ผู้สันทัดกรณีรายหนึ่ง ระบุว่า สถานการณ์แย่งประมูลลิขสิทธิ์กีฬา เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในผู้ประกอบการเคเบิลทีวีหลายประเทศ ทั้งในสิงคโปร์ ฮ่องกง ที่เกิดการเปลี่ยนมือการบริหารลิขสิทธิ์พรีเมียร์ลีก แต่ก็พบว่ารายเดิมที่พลาด ยังสามารถประกอบกิจการอยู่ได้

     ขณะที่รายใหม่ที่ได้ลิขสิทธิ์กลับประสบปัญหาจากราคาประมูลสูงเกินไป เช่น ฮ่องกง จากราคาลิขสิทธิ์ 100 ล้านดอลลาร์ เคยเพิ่มขึ้นเท่าตัวเป็น 200 ล้านดอลลาร์ และครั้งต่อมาลดลงมาที่ 80 ล้านดอลลาร์ เมื่อไม่สามารถประกอบการได้ด้วยต้นทุนสูง เหตุการณ์เหล่านี้เกิดขึ้นในหลายประเทศ ที่เผชิญภาวะการแข่งขันรุนแรง

     “ธุรกิจเคเบิลทีวีในต่างประเทศ มีตัวอย่างให้เห็นเช่นกัน ในรายที่เคยได้ลิขสิทธิ์พรีเมียร์ลีก และบางปีประมูลแพ้ แต่ธุรกิจก็ยังสามารถดำเนินได้ต่อไป แม้สมาชิกคอบอลจะลดลงบ้างก็ตาม”

     วันนี้บริษัทที่อยู่ในธุรกิจคอนเทนต์ โพรวายเดอร์ ทุกรายสนใจคอนเทนต์กีฬาทั้งสิ้น และวางแผนเข้าไปเสนอตัวประมูลทัวร์นาเมนต์สำคัญๆ ของโลก โดยเห็นโอกาสทางการตลาดไม่ต่างกัน แต่ปัจจัยความสำเร็จอยู่ที่คอนเทนต์ที่มีศักยภาพ ราคาเหมาะสม และความสามารถในการบริหารจัดการ ในการต่อยอดลิขสิทธิ์ที่ประมูลมาในราคาแพงอย่างคุ้มค่าที่สุด


3 บิ๊ก 3 คมความคิด


 

ไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม

      “ผมไม่เข้าใจว่าทำไมเราต้องแข่งกันให้ฝรั่งรวย นโยบายของแกรมมี่ต้องการที่จะร่วมมือเป็นพันธมิตรกับทุกฝ่ายทั้งฟรีทีวีช่องต่างๆ รวมทั้งทรูวิชั่นส์ ในการทำธุรกิจกีฬาร่วมกันและไม่ต้องการแข่งขันแย่งชิงลิขสิทธิ์กีฬา ซึ่งจะทำให้ต้นทุนสูง และสุดท้ายต่างชาติก็จะเป็นผู้รับประโยชน์”


 สุรชัย เชษฐโชติศักดิ์

      “คนที่ออกมาพูดให้จับมือกันประมูล คงไม่เข้าใจว่าข้อเท็จจริงมันเป็นอย่างไร เรื่องนี้มันก็เหมือนกับการที่จะให้พรรคประชาธิปัตย์กับพรรคเพื่อไทยร่วมกันจัดตั้งรัฐบาล มันเป็นไปไม่ได้ และผมเชื่อว่าหากอาร์เอสซื้อมาได้จะมีสปอนเซอร์หลายรายพร้อมที่จะสนับสนุนเรา”

 

องอาจ ประภากมล

      “ทรูฯมีกำลังซื้อลิขสิทธิ์ฟุตบอลในราคาสูงได้ไม่แพ้กับคนอื่นอย่างแน่นอน เพราะทรูฯมีรายได้จากคนที่จ่ายค่าสมาชิกเคเบิลทีวี ซึ่งเพียงพอต่อการลงทุนในการพัฒนาคอนเทนต์ต่อไป ส่วนจะกระทบกับ ราคาสมาชิกเพิ่มขึ้น หรือขายโฆษณาในราคาที่สูงขึ้นหรือไม่นั้น ยังไม่สามารถตอบได้ เนื่องจากราคาที่บอกมายังไม่ใช่ราคาที่แท้จริง จึงยังไม่สามารถบอกได้ว่าจะกระทบต่อต้นทุนมากน้อยเพียงใด”


 


ค่าลิขสิทธิ์ออนแอร์พุ่ง
ทีมดังรับเละเกือบ 3 พันลบาท

      เผย เม็ดเงินส่วนแบ่งค่าลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดเกมฟุตบอลพรีเมียร์ลีกอังกฤษ เพิ่มเป็น 2 เท่า จากช่วงปีที่ผ่านมา ทีมใหญ่สุดอู้ฟู้รับเงินสูงถึง 2.8 พันล้าน คาดอีก 3 ปีรายได้ค่าลิขสิทธิ์ทั้งหมดน่าจะพุ่งขึ้นสูงถึง 6 หมื่นล้าน

     รายงานจาก พรีเมียร์ลีก ลีกฟุตบอลสูงสุดของอังกฤษ ซึ่งประกาศว่า เงินส่วนแบ่งค่าลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดเกมการแข่งขันที่จะจ่ายให้กับสโมสรต่างๆ ในฤดูกาลหน้า จะมีมูลค่าอย่างน้อย 37 ล้านปอนด์ (1,150 ล้านบาท) สำหรับทีมอันดับล่าง ส่วนทีมแชมป์จะได้รับมากกว่า 57 ล้านปอนด์ (2,850 ล้านบาท) โดยค่าลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสู่ต่างประเทศ จะส่งผลให้ทีมดังๆ ทั้งหลาย มีรายได้เพิ่มขึ้นจากฤดูกาลที่แล้ว 5 ล้านปอนด์ (250 ล้านบาท)

     อย่างไรก็ตาม จำนวนตัวเลขที่แน่นอนของทั้งหมดนั้น ยังไม่ชัดเจน แต่มีการคาดการณ์ว่า ในอีก 3 ปีจากนี้ รายได้จากค่าลิขสิทธิ์ที่เคยได้รับอยู่ปีละ 625 ล้านปอนด์ (31,250 ล้านบาท) จะเพิ่มสูงขึ้นถึง 1.2 พันล้านปอนด์ (6 หมื่นล้านบาท) เป็น 2 เท่า จากช่วงปี 2007-10 ซึ่งมากเป็น 10 เท่าของ บุนเดสลีกา เยอรมัน สูงกว่า เซเรียอา อิตาลี 5 เท่า และยังมากกว่า ลาลีกา สเปน 3 เท่าในฤดูกาลที่ผ่านมา ส่วนแบ่งจากการถ่ายทอดโทรทัศน์ภายในประเทศมีมูลค่า 13.8 ล้านปอนด์ (690 ล้านบาท) และอีก 17.7 ล้านปอนด์ (885 ล้านบาท)

     สำหรับการส่งสัญญาณถ่ายทอดไปต่างประเทศ โดยทุกๆ สโมสรจะได้รับเงินจำนวนนี้เท่าๆ กัน นอกจากนี้ ในทุกเกมที่มีการถ่ายทอดสด จะมีการจ่ายเงินค่าอำนวยความสะดวกให้อีก เกมละ 485,000 ปอนด์ (24.25 ล้านบาท) และมีการประกันค่าอำนวยความสะดวกขั้นต่ำที่ 4.85 ล้านปอนด์ (242.5 ล้านบาท) แม้ทีมที่มีส่วนร่วมกับการถ่ายทอดสดไม่ถึง 10 เกม ส่วนทีมยักษ์ใหญ่จะได้รับเงินค่าอำนวยความสะดวกมากกว่า 10 ล้านปอนด์ (500 ล้านบาท) เพราะมีเกมถ่ายทอดเกินกว่า 20 ครั้ง ในแต่ละฤดูกาล

     ทั้งนี้ การปันส่วนเท่าๆ กันของ พรีเมียร์ ลีก ทำให้ไม่มีปัญหาการเรียกร้องค่าลิขสิทธิ์แบบใน ลาลีกา เนื่องจากที่สเปน สถานีโทรทัศน์ที่ต้องการถ่ายทอดสดเกมฟุตบอล สามารถติดต่อกับสโมสรได้โดยตรง ทีมใหญ่อย่าง บาร์เซโลนา และ เรอัล มาดริด จึงมีรายได้จากค่าลิขสิทธิ์มากกว่าทีมเล็กๆ ถึง 19 เท่า

     อย่างไรก็ตาม สำหรับทีมแชมป์อย่างแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ดยังรวยขึ้นกว่านี้อีก เมื่อได้รับทราบได้ จากลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดพรีเมียร์ลีก และเงินรางวัลแชมป์พรีเมียร์ลีก สูงถึง 60.4 ล้านปอนด์ มากที่สุดในพรีเมียร์ลีกโดย มีเชลซี ตามมาเป็นอัดดับ สอง รับไป 57.7 ล้านปอนด และปืนใหญ่ อาร์เซนอล มาเป็นอันดับ 3 รับไป 56.1 ล้านปอนด์ทีมตกชั้น อย่างแบล็คพูล ก็ได้รับไปถึง 39.1 ล้านปอนด์

     โดย แต่ละทีม ในพรีเมียร์ลีกได้รับ ส่วนแบ่งจากการถ่ายทอดสดทางทีวี เท่าๆ กัน คือถ่ายทอดสด ในประเทศ รับไป 13.8 ล้านปอนด์ และการถ่ายทอดสดไปต่างประเทศ รับไป 17.9 ล้านปอนด์ในฤดูกาลนี้

     ส่วนที่เหลือจะได้ส่วนแบ่ง โดยดูจาก อันดับในตารางและ จำนวนครั้ง ที่มีการถ่ายทอดสดโดย แมนยู รับไปมากสุด 13.5 ล้านปอนด์ จากการถ่ายทอดสดในอังกฤษ ส่วนลิเวอร์พูล ตามมาเป็นอันดับ 2 ได้รับไป 12.1 ล้านปอนด์ โดยจะจ่ายให้แต่ละสโมสร ทุกครั้งที่มีการถ่ายทอดสด ครั้งละ 582,000 ปอนด์ และขั้นต่ำที่แต่ละสโมสรจะได้รับในฤดูกาล คือ 5.82 ล้านปอนด์ ถึงแม้ว่าสโมสรนั้น จะมีการถ่ายทอดสดทางทีวีไม่ถึง 10 นัดก็ตาม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

TOP 5 ข่าวในรอบ 3 วัน

อัลบั้มภาพเด็ดๆ

More »

คลิปไฮไลท์

More »