สุธาสินี เสวตรบุตร : นักปิงปองเงินล้านที่ออกจากโรงเรียนเพื่อเดิมพันชีวิตกับวิถีลูกเด้ง
Posted 27/07/2021 by Sanook
ปิงปอง หรือ เทเบิลเทนนิส ถือเป็นกีฬาสามัญที่แทบทุกคนเคยเล่น บ้างก็เล่นตอนสมัยเป็นนักเรียน บ้างก็เล่นเป็นงานอดิเรกยามว่าง
แต่มีน้อยคนที่จะจริงจังกับมัน และไม่เคยรู้มาก่อนเลยว่าเจ้ากีฬาชนิดนี้สามารถยึดเป็นอาชีพหาเลี้ยงตัวเองได้ ที่สำคัญถ้ามีฝีมือที่เก่งกาจมากพอยังสามารถสร้างรายได้โกยเงินเข้ากระเป๋าได้ถึงหลักแสนหลักล้านบาท
หากใครสงสัยว่ามันจะเป็นไปได้อย่างไร Main Stand ขอพาไปพบกับเรื่องราวของ “หญิง” สุธาสินี เสวตรบุตร นักปิงปองสาววัย 27 ปี ที่วันนี้ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า “ปิงปอง” สามารถทำให้เด็กธรรมดาคนหนึ่งมีทั้งชื่อเสียงและเงินทอง ที่สำคัญยังได้เข้าร่วมแข่งขันในศึกโอลิมปิก เกมส์ ที่นักกีฬาหลายคนใฝ่ฝัน
ค้นหาตัวเองเจอตั้งแต่เด็ก
สุธาสินี เติบโตขึ้นมาในครอบครัวธรรมดาทั่วไป บ้านที่อำเภอเมือง จังหวัดระนอง ถึงจะหลังเล็กแต่ก็อบอุ่น คุณพ่อศักดิ์ชาย รับราชการตำรวจติดยศนายดาบ ส่วนคุณแม่นิตยา เป็นแม่บ้านคอยดูแลลูก ๆ 3 คน
โดย “หญิง” เป็นลูกคนกลาง เธอเป็นเด็กเงียบ ๆ ไม่ดื้อไม่ซน ชีวิตหลังเลิกเรียนส่วนใหญ่จะกลับมาอยู่กับที่บ้านไม่ค่อยได้ออกไปเล่นกับเพื่อน ๆ เท่าไหร่นัก
จนอายุ 6 ขวบ กีฬาปิงปองได้เข้ามาทักทายเธอเป็นครั้งแรก จากคำเชิญชวนของพี่ชาย ภัณฑารักษ์ ซึ่งเคยเป็นนักกีฬาปิงปองดีกรีแชมป์ประเทศไทยมาก่อน
“เริ่มเล่นปิงปองครั้งแรกตอนอายุ 6 ขวบ ญาติพี่น้องที่บ้านเล่นปิงปองอยู่ก่อนแล้ว แต่ตอนเด็ก ๆ ก็ไม่ได้สนใจอะไร จนวันหนึ่งพี่ชายซึ่งเป็นนักกีฬาปิงปองมาชวนให้ไปลองเล่นที่โรงยิมในโรงเรียน เลยลองตามไปดู”
“ครั้งแรกที่ไปแค่ลองเล่นดูเฉย ๆ เหมือนเล่นเพื่อออกกำลังกายมากกว่า ไม่ได้จริงจังอะไร แต่ก็ไปเล่นเกือบทุกวันเพราะกลับมาบ้านก็ไม่มีอะไรให้ทำ พอเล่นไปเรื่อย ๆ ก็เริ่มสนุกกับมันมากขึ้น”
“เล่นไปเล่นมาอยู่เกือบปี อ.ไกรวัลย์ ศุภประเสริฐ โค้ชที่คอยดูแลเราเหมือนจะเห็นแววว่าเราตีได้ดี ก็เลยพาไปแข่ง จำไม่ได้แล้วว่าเป็นรายการอะไร แต่จำได้ว่าไปแข่งแล้วได้เงินมาหลักร้อยบาท ก็เริ่มเห็นว่าปิงปองมันก็สร้างรายได้ให้เราได้ จากนั้นก็เลยเล่นมาตลอด”
“พออายุ 12 สมาคมกีฬาเทเบิลเทนนิสแห่งประเทศไทย ได้เปิดคัดนักกีฬาเยาวชนไปแข่งขันชิงแชมป์เอเชีย รุ่นอายุไม่เกิน 15 ปี ที่ประเทศญี่ปุ่น โค้ชก็พาเราไปคัดและได้ติดทีมไปแข่ง และได้อันดับที่ 3 มา ตอนนั้นรู้สึกสนุกและตื่นเต้น เพราะเป็นการได้ไปต่างประเทศครั้งแรกด้วย”
“หลังแข่งเสร็จเราก็ได้ทุนจากสหพันธ์เทเบิลเทนนิสนานาชาติ ให้ไปฝึกซ้อมที่ประเทศสวีเดนอยู่เกือบเดือน ได้เจอเด็กจากหลายประเทศ ตอนนั้นมีความคิดว่าอยากจะเล่นปิงปองให้จริงจังมากขึ้นแล้ว”
แม้จะยังมีคำนำหน้าว่าเด็กหญิง แต่ สุธาสินี รู้ตัวเองแล้วว่าโตขึ้นมาอยากเป็นอะไร และไม่เพียงแค่มีความคิดเท่านั้น แต่เธอยังได้ตั้งเป้าหมายและลงมือทำจริง เริ่มต้นด้วยการเดินไปบอกกับครอบครัวเพื่อขอเลือกเส้นทางการตีปิงปองมากกว่าการเรียนหนังสือ
ออกจากโรงเรียนเดิมพันชีวิตไว้กับวิถีลูกเด้ง
ปิงปองในเมืองไทยไม่ใช่กีฬาอาชีพที่สร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำ ที่สำคัญยังไม่มีการจัดแข่งลีกอาชีพที่จะการันตีรายได้ที่แน่นอนให้ทุกเดือน ขณะที่ในต่างประเทศก็ยังไม่ใช่กีฬาที่ป๊อปปูล่าเท่าไหร่นัก แม้จะมีบางประเทศที่จัดลีกอาชีพแต่ก็ยังไม่เป็นที่แพร่หลาย ที่สำคัญค่าตอบแทนไม่ได้มากมายเท่ากีฬายอดนิยมชนิดอื่น ๆ
ด.ญ.สุธาสินี เติบโตขึ้นมาโดยรับรู้สิ่งเหล่านี้เป็นอย่างดี แต่เธอยังคงเลือกเส้นทางนี้อย่างแน่แน่ว โดยมีรุ่นพี่ในวงการปิงปองอย่าง “แป๋ว” นันทนา คำวงศ์ ตำนานนักตบลูกเด้งไทยเป็นต้นแบบ จากการเป็นปิงปองหญิงไทยคนแรกที่ได้ไปโลดแล่นในเวทีลีกอาชีพในทวีปยุโรปทั้งฝรั่งเศสและเยอรมนี เป็นใบเบิกทางมาก่อนแล้ว
“เราคิดว่าเรามีความสามารถด้านนี้ เราเรียนไม่เก่ง ถ้าไม่เต็มที่ทางด้านกีฬา จบมาเราก็ไม่รู้ว่าจะไปทำงานอะไรได้”
“พอเริ่มรู้จักปิงปองมากขึ้นเรื่อย ๆ เริ่มมีรายได้จากการแข่งขัน ก็เริ่มมองเห็นอนาคตว่ามันมีทางเป็นไปได้ที่จะเอาดีด้านนี้อย่างจริงจัง เรามองไกลถึงการได้ไปแข่งโอลิมปิกหรือการได้เล่นอาชีพ”
“เรามีพี่แป๋วเป็นต้นแบบ อยากไปเล่นต่างประเทศเหมือนพี่เขา เมื่อพี่เขาทำได้เราก็ต้องทำให้ได้ และโค้ชก็เห็นตรงกัน เลยตัดสินใจที่จะมุ่งเน้นทางด้านกีฬาอย่างเดียวไปเลย จะได้ฝึกซ้อมได้เต็มที่ ก่อนจะพาโค้ชไปคุยกับคุณพ่อคุณแม่”
เมื่อลูกสาวอายุ 12 เดินมาบอกว่าจะไม่เรียนหนังสือที่โรงเรียนตามปกติต่อแล้ว โดยจะไปเรียน กศน. หรือ การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยแทน เพราะอยากจะตั้งใจซ้อมเพื่อเป็นนักปิงปองอาชีพ หากเป็นบ้านอื่นอาจจะกลายเป็นปัญหาใหญ่โตที่ผู้ปกครองต้องมานั่งถกนั่งเคลียร์กันอย่างจริงจัง แต่ไม่ใช่กับ “บ้านเสวตรบุตร” หญิงเล่าว่าบรรยากาศทุกอย่างในวันนั้นเป็นไปอย่างชื่นมื่น
“ตอนนั้นจำไม่ค่อยได้แล้วว่าเป็นยังไงบ้าง จำได้แค่บอกกับแม่ว่าหนูอยากเล่นปิงปองจริง ๆ จัง ๆ แล้ว ถ้าต้องเรียนไปด้วยซ้อมไปด้วยหนูทำไม่ได้ เพราะมันหนักและจะเรียนไม่ทันเพื่อน ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นโค้ชที่ช่วยพูดให้”
“คุณแม่เขาจะเชื่อมั่นในตัวโค้ชมาก เพราะเคยสอนเด็กในจังหวัดมาแล้วหลายคนรวมถึงพี่ชายเราด้วย คุณแม่เลยยอมให้เราออกจากโรงเรียนตอนจบชั้นประถม แล้วให้ไปศึกษาต่อนอกระบบที่ กศน.ตำบลบางนอน”
ขณะที่คุณพ่อของเธอที่รับราชการ ซึ่งผ่านการอยู่ในกรอบในระเบียบมาตลอดนั้น หลายคนอาจคิดว่าน่าจะต้องเป็นคนที่คัดค้านเรื่องนี้หัวชนฝา แต่กลับไม่ใช่อีกเช่นกัน ด้วยเหตุผลสั้น ๆ ที่หญิงเล่าว่า “ที่บ้านหญิงส่วนใหญ่คุณแม่จะเป็นคนตัดสินใจทุกอย่าง ส่วนคุณพ่อก็จะตามคุณแม่” เธอกล่าวพร้อมเสียงหัวเราะ
เส้นทางที่โรยด้วยกลีบกุหลาบ
แม้ว่ากีฬาปิงปองในบ้านเราจะไม่มีการจัดแข่งขันลีกระดับอาชีพ แต่เมื่อเธอตัดสินใจก้าวเท้าออกจากสถานศึกษา เวลาส่วนใหญ่ในชีวิตของ สุธาสินี จึงหมดไปกับเทเบิลเทนนิส
หลังจากนั้นเธอก็มุ่งมั่นทุ่มเทฝึกซ้อมอย่างหนัก โดยซ้อมวันละ 7-8 ชั่วโมงตลอดทั้งสัปดาห์ แบ่งเป็น ช่วงเช้า 3 ชั่วโมง และช่วงบ่ายถึงเย็นอีก 4 ชั่วโมง จะมีผ่อนปรนบ้างก็แค่วันอาทิตย์ที่เธอต้องไปเรียน กศน.
ความทุ่มเทเกินวัย ทำให้ สุธาสินี ได้รับการทาบทามจากสโมสรโอสถสภาดึงตัวมาร่วมสังกัด และเริ่มเดินสายกวาดแชมป์ระดับเยาวชนทั่วประเทศตั้งแต่อายุ 12 ปี ไม่ว่าจะเป็นรายการชิงแชมป์ประเทศไทย, ออลไทยแลนด์ และเทเบิลเทนนิสกึ่งอาชีพ
ขณะที่ในนามทีมชาติไทย สุธาสินี เข้ามาติดทีมอย่างเป็นทางการตอนอายุ 15 ปี โดยลงแข่งขันในระดับนานาชาติพร้อมคว้าเหรียญทองในรายการ The First Korea Junior Open & Cadet Open 2009 - ITTF Junior Circuit ที่ประเทศเกาหลีใต้ และ Taiyuan International Junior & Cadet Open 2009 ที่ประเทศจีน
รวมถึงคว้าอันดับ 4 ในศึกยูธโอลิมปิกเกมส์ ด้วยเช่นกัน จนได้มีโอกาสเข้าร่วมแข่งขันซีเกมส์เป็นครั้งแรก ในปี 2009 ที่ประเทศลาว พร้อมคว้าเหรียญเงินแรกจากประเภททีม ร่วมกับไอดอลของเธออย่าง นันทนา คำวงศ์ และ อนิศรา เมืองสุข
“หลังจากเลือกเรียน กศน. ทำให้เรามีเวลาฝึกซ้อมจริงจังมากขึ้น ได้ซ้อมอย่างเป็นระบบมากขึ้น โดยเฉพาะเรื่องเบสิกพื้นฐานต่าง ๆ ลูกตี ลูกเสิร์ฟ ลูกโต้ ที่ดีขึ้น จนมาได้รับการสนับสนุนจากสโมสรโอสถสภา ทำให้มีรายได้เข้ามาทั้งจากการแข่งขัน มีทั้งเงินอัดฉีด รวมถึงเบี้ยเลี้ยงซ้อมและเบี้ยเลี้ยงแข่งขันที่เล่นให้กับทีมชาติด้วย ถึงตอนนั้นจะยังไม่มากเท่าไหร่ แต่ก็ทำให้เราเริ่มมองเห็นช่องทางที่ชัดเจนขึ้น” หญิง เปิดใจ
จนในที่สุดความฝันของเธอก็กลายเป็นจริง ... เธอได้ลงเล่นลีกอาชีพที่ต่างประเทศเป็นครั้งแรก โดยปักหมุดหมายบนแผ่นดินยุโรป ณ เมืองเบรคลาฟ ทางตะวันออกเฉียงใต้ของสาธารณรัฐเช็ก เมืองที่มีประชากรประมาณ 25,000 คน แต่มีประวัติการเล่นปิงปองมายาวนานตั้งแต่ปี 1930
กีฬาเทเบิลเทนนิสในสาธารณรัฐเช็ก ได้รับความนิยมจากคนในประเทศมากพอสมควร โดยมีการจัดการแข่งขันลีกอาชีพขึ้นทั้งชายและหญิง ซึ่งทีมปิงปองหญิงของสโมสรเอ็มเอสเค เบรคลาฟ คือหนึ่งในทีมที่ประสบความสำเร็จมากที่สุด จากผลงานการคว้าแชมป์ลีกถึง 4 สมัย ในปี 2005, 2010, 2012, 2013
โดยในปี 2012 ทางสโมสรมีนโยบายเน้นการดึงผู้เล่นดาวรุ่งจากต่างแดนมาเล่นควบคู่ไปกับการปั้นเยาวชนระดับท้องถิ่น ทำให้ สุธาสินี ที่กำลังฟอร์มร้อนแรงเป็นหนึ่งในตัวเลือก
ในวัย 19 ปี “หญิง” พัฒนาฝีมือขึ้นมาจนรั้งอันดับต้น ๆ ของเมืองไทย ทำให้ฟอร์มไปเตะตาเอเยนต์ของเอ็มเอสเค เบรคลาฟ ที่ติดต่อทาบทามดึงตัวไปร่วมทีมด้วยสัญญา 3 เดือน พร้อมเงินค่าจ้างอีกเดือนละประมาณ 30,000 บาท โดยเธอได้เดินทางไปพร้อมกับโค้ชไกรวัลย์ เทรนเนอร์คู่ใจ ซึ่งเธอก็ไม่ทำให้ต้นสังกัดผิดหวัง ตอบแทนด้วยการช่วยทีมคว้าแชมป์ในประเภททีมหญิงได้สำเร็จ
“เอเยนต์ติดต่อผ่านทางโค้ชมา พอโค้ชมาบอกเรา ตอนนั้นดีใจมาก รู้สึกว่าเราได้ทำความฝันของเราสำเร็จแล้ว แม้จะเป็นสัญญาระยะสั้นก็เถอะแต่เราก็จะได้ลองพิสูจน์ตัวเอง พอไปถึงก็ไม่ได้รู้สึกกดดันอะไรมาก เพราะเมืองที่ไปอยู่เป็นเมืองเงียบ ๆ ไม่ค่อยมีอะไร คล้าย ๆ ต่างจังหวัดบ้านเรา”
“แต่มารู้สึกตื่นเต้นตอนวันแข่ง เราได้เจอบรรยากาศการแข่งอาชีพครั้งแรก แข่งในที่ ๆ คล้ายโรงยิมเล็ก ๆ ของสโมสร มีโต๊ะปิงปองอยู่ 3 โต๊ะ แต่พอเป็นลีกอาชีพก็จะมีการแข่งเหย้า-เยือน วันแข่งก็จะมีกองเชียร์เจ้าบ้านและกองเชียร์ของทีมที่มาเยือนส่งเสียงเชียร์กันอย่างสนุกสนาน แต่ละนัดมีคนดูหลายสิบคน”
“เราก็สนุกไปกับมัน แม้จะยังไม่ค่อยพอใจผลงานส่วนตัวที่ลงแข่งประเภทบุคคลเท่าไหร่ แต่คะแนนรวมทุกประเภทก็ทำให้ทีมได้แชมป์ในปี 2012”
เมื่อได้ออกเดินก้าวแรกแล้ว ก้าวที่สองก็ตามมาติด ๆ หลังหมดสัญญาจากสาธารณรัฐเช็ก สุธาสินี ได้รับข้อเสนอครั้งใหม่จาก เฟเนร์บาห์เช สปอร์ คูลูบู ในลีกสูงสุดของประเทศตุรกี ซึ่งเซ็นสัญญาว่าจ้างเธอ 3 แมตช์ เพื่อไปลงแข่งในศึกแชมเปี้ยนส์ลีก หรือการแข่งขันปิงปองชิงแชมป์สโมสรยุโรปโดยเฉพาะ
แม้คราวนี้เธอไม่สามารถช่วยทีมให้ประสบความสำเร็จได้ แต่มันก็เป็นประสบการณ์คุ้มค่าที่ สุธาสินี ได้ออกไปยังต่างแดนทำความฝันของตัวเองให้เป็นจริง
เธอกลับมาประเทศไทย พร้อมลับฝีมือบ่มเพาะวิชาให้แก่กล้า เพื่อเฝ้ารอวันที่จะได้มีโอกาสไปโลดแล่นในลีกอาชีพอีกครั้ง และช่วงเวลานั้นเองที่เธอได้เจอกับเหตุการณ์ที่พลิกชีวิตเธอครั้งใหญ่ที่สุด...
เหรียญทองพลิกชีวิต
หลังจากกลับมาอยู่เมืองไทยได้ไม่นาน “หญิง” มีชื่อติดทีมชาติไทย ชุดลุยศึกเอเชียนเกมส์ 2014 ที่ประเทศเกาหลีใต้ โดยในทัวร์นาเมนต์นี้เธอลงแข่งครบทั้ง 4 อีเวนต์ ประกอบด้วย หญิงเดี่ยว หญิงคู่ คู่ผสม และทีม
แต่น่าเสียดายที่เธอไปไม่ถึงฝั่งฝันทุกประเภท ความผิดหวังครั้งนั้นทำให้เธอฮึดสู้ ฝึกซ้อมหนักมากขึ้น เพื่อเตรียมลงแข่งรายการต่อไปคือ ซีเกมส์ 2015 ที่ประเทศสิงคโปร์
เป็นที่ทราบกันดีว่ากีฬาปิงปองในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สิงคโปร์ถือครองความเป็นเต้ยแห่งวงการ นับตั้งแต่ปี 1995 ไม่เคยมีนักกีฬาจากชาติใดเลยที่สามารถกระชากเหรียญทองในประเภทหญิงเดี่ยวจากมือสาวเมอร์ไลออนส์มาได้ โดย พัชรินทร์ ลอยไสว คือหญิงไทยคนสุดท้ายที่คว้าเหรียญทองอีเวนต์นี้มาได้ในศึกซึเกมส์ 1983 หรือ 32 ปีก่อนการแข่งขันในครั้งนี้จะเริ่มต้นขึ้น
ในศึกซีเกมส์ 2015 รอบแรก สุธาสินี โคจรไปอยู่ร่วมสายเดียวกับคู่แข่งจากอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และสิงคโปร์ ซึ่ง 2 รายแรกเธอเอาชนะไปได้อย่างสบายมือ แต่แมตช์สุดท้ายที่ต้องดวลกับ “เฝิง ถังเหว่ย” นักกีฬาเจ้าภาพ เพื่อตัดสินหาผู้ชนะที่จะได้เข้ารอบเพียงหนึ่งเดียว
โดยคู่แข่งของเธอมีดีกรีถึงขนาดเคยคว้า 1 เหรียญเงิน และ 2 เหรียญทองแดงโอลิมปิก เกมส์ มาแล้ว และยังเคยเป็นแชมป์ซีเกมส์มาแล้ว 2 สมัย ด้วยเช่นกัน
แต่สิ่งที่ไม่มีใครคาดคิดก็เกิดขึ้น เมื่อดาวรุ่งไทยวัย 21 ปี ช็อกคนทั้งสนามด้วยการไล่แซงพลิกชนะคู่แข่งชาวสิงคโปร์ไปด้วยสกอร์ 3-1เกม คว้าตั๋วกรุยทางสู่รอบตัดเชือกได้สำเร็จ
ก่อนที่รอบต่อมาจะเฉือนชนะ ไหม ฮวง มี ตรัง จากเวียดนาม 4-3 เกม ชนิดที่โดนนำก่อน 0-3 เกม และปิดท้ายในรอบชิงฯ สามารถเอาชนะ เอ็นจี ซ็อค คิม จากมาเลเซีย 4-3 เกม ปลดล็อกหรียญทองแรกในรอบ 32 ปีให้ทัพปิงปองหญิงไทยได้สำเร็จ
“วันที่ชนะ เฝิง ถังเหว่ย ได้ เราร้องไห้เลย เพราะเขาเก่งมากและการจะชนะนักปิงปองสิงคโปร์ได้เป็นเรื่องที่ยากมาก เราไม่คิดว่าเราจะทำได้ มันตื้นตันดีใจจนน้ำตาไหลเองเลย หลังจากนั้นเราก็ไม่กดดันเท่าไหร่แล้ว”
“ตอนลงแข่งในรอบรองฯ และรอบชิงฯ นอกจากจะมีพี่ ๆ คนไทยช่วยเชียร์แล้ว กองเชียร์ของเจ้าภาพสิงคโปร์ที่เข้ามาดูเขาก็ช่วยเชียร์เราด้วย เหมือนเขาชื่นชมเรา ทำให้เรามีกำลัง พอชนะในรอบชิงฯ ได้ก็สะใจเหมือนได้ปลดล็อกให้กับตัวเองจากการที่เหนื่อยมาตลอดตั้งแต่รอบแรก” สุธาสินี เล่าถึงวันสำคัญที่สุดในชีวิต
ความสำเร็จครั้งนั้นทำให้ สุธาสินี โด่งดังและเป็นที่รู้จักมากขึ้น จากนักปิงปองหญิงธรรมดากลายเป็นฮีโร่ในชั่วข้ามคืน ทั้งภาครัฐและเอกชนต่างแห่แหนมาร่วมแสดงความยินดี โดยเฉพาะที่บ้านเกิดจังหวัดระนอง ที่มีการจัดงานเฉลิมฉลองให้เธออย่างยิ่งใหญ่
มีขบวนแห่รอบเมืองเพื่อให้พี่น้องในจังหวัดได้ร่วมแสดงความยินดี โดยมีชาวบ้าน นักเรียน นักศึกษา นับหมื่นคนที่ออกมารอต้อนรับตลอดสองข้างทาง ก่อนจะมีงานเลี้ยงต้อนรับช่วงค่ำ รวมถึงมีพิธีมอบเงิน ทองคำ และของที่ระลึกอีกมากมาย
“หลังได้เหรียญทองซีเกมส์ที่สิงคโปร์ ถือเป็นช่วงที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดในชีวิต หลายฝ่ายเข้ามาร่วมแสดงความยินดีและร่วมสนับสนุน ทั้งรัฐบาล สมาคมกีฬาปิงปองฯ โอสถสภา จังหวัดระนอง และอีกหลายที่ รวมแล้วได้เงินสนับสนุนทั้งหมดเกือบ 2 ล้านบาท”
“เรารู้สึกดีใจมาก ภูมิใจมากที่เราตัดสินใจเลือกเดินทางนี้ ปิงปองได้สร้างทุกอย่างให้กับเราจริง ๆ ทำให้เรามีชื่อเสียง มีเงินทอง มีรายได้เลี้ยงดูตัวเองและครอบครัว เราออกมาตรงนี้ถือเป็นโอกาส เราสามารถหาเงินได้มากกว่าเพื่อน ๆ รุ่นเดียวกันที่บางคนอาจจะยังเรียนหนังสืออยู่ด้วยซ้ำ ทำให้อยากจะเดินหน้าต่อไปเรื่อย ๆ” นักปิงปองหญิงเงินล้าน เผยอย่างภาคภูมิใจ
วันที่บรรลุเป้าหมาย ... ความสำเร็จทั้งในและนอกสนาม
จากเหรียญทองซีเกมส์ 2015 สุธาสีนิ ยังคงเดินหน้าไล่ล่าความสำเร็จให้กับตัวเองและทีมชาติไทยอย่างต่อเนื่องในอีก 2 ปีต่อมาในซีเกมส์ 2017 ที่มาเลเซีย
แม้จะผิดหวังที่เข้าไปป้องกันแชมป์ประเภทหญิงเดี่ยวไม่ได้ แต่ในประเภทคู่ผสม ที่ได้จับคู่กับ “ไบร์ท” ภาดาศักดิ์ ตันติวิริยะเวชกุล คว้าเหรียญทองได้สำเร็จ ซึ่งเป็นเหรียญทองแรกในรอบ 32 ปีของประเภทคู่ผสมไทย
จากนั้นในซีเกมส์ 2019 ก็ได้จับคู่กับ “ทิพย์” อรวรรณ พาระนัง คว้าเหรียญทองหญิงคู่ให้กับทีมชาติไทยในรอบ 34 ปี พร้อมขึ้นแท่นเป็นนักเทเบิลเทนนิสหญิงเบอร์ 1 ของไทยอย่างเต็มภาคภูมิ
ในระหว่างนั้นเธอยังได้เติมเต็มความฝันอีกชิ้นของเธอได้สำเร็จด้วยการได้ไปร่วมชิงชัยในโอลิมปิก เกมส์ เป็นครั้งแรก ในศึก “ริโอเกมส์ 2016” ที่ประเทศบราซิล แม้เธอจะต้องจอดป้ายเพียงรอบสองที่ลงแข่งขัน แต่นั่นก็ทำให้เธอได้มีเป้าหมายที่ชัดเจนอีกครั้งที่จะกลับมาพิสูจน์ตัวเองให้ได้ในเวทีระดับโลกรายการนี้
"การได้ไปแข่งโอลิมปิกครั้งแรกเป็นอะไรที่ดีใจและภาคภูมิใจมาก เป็นอีกหนึ่งความฝันที่ทำได้สำเร็จ เราตั้งใจและมองเป้าไปที่รายการนี้มาโดยตลอด แม้สุดท้ายจะไม่ได้เหรียญรางวัลกลับมา แต่ก็ได้พิสูจน์ตัวเองว่าเราอยู่จุดไหนในระดับโลก ได้รู้ว่าเรามีจุดบกพร่องตรงไหน และนำเอาข้อผิดพลาดเหล่านั้นมาปรับปรุงตั้งใจฝึกซ้อมให้ดีขึ้นเพื่อที่จะกลับไปแก้มืออีกครั้งในอีก 4 ปีข้างหน้า”
ความสำเร็จเหล่านี้ทำให้ “หญิง” เนื้อหอมมากขึ้นและมีหลายสโมสรตามจีบไปร่วมทีม ก่อนจะตัดสินใจเซ็นสัญญาย้ายไปเล่นให้กับสโมสร นิปปอน เพนต์ ในที-ลีก ลีกสูงสุดของประเทศญี่ปุ่นในฤดูกาล 2019-20 พร้อมจารึกประวัติศาสตร์เป็นนักปิงปองหญิงไทยคนแรกที่ได้ไปเล่นลีกอาชีพที่แดนอาทิตย์อุทัย
แม้จะไม่มีการเปิดเผยค่าจ้าง แต่เชื่อกันว่าค่าเหนื่อยที่เธอได้รับมีเดือนละไม่ต่ำกว่าครึ่งแสนบาทแน่นอน ซึ่งเพียงแค่ฤดูกาลแรกที่ลงเล่น เธอก็สามารถคว้ารางวัล MVP หรือผู้เล่นทรงคุณค่ามาครองได้สำเร็จ จากผลงานช่วยต้นสังกัดแข่ง 10 แมตช์ ชนะ 8 แพ้ 2 และได้รับการต่อสัญญายาวมาจนถึง ณ ปัจจุบัน
“โตเกียวเกมส์” ความหวังที่อยากจะแก้มือ
ในวัย 27 ปี สุธาสินี ทำตามความฝันวัยเด็กของตัวเองได้ครบถ้วน ทั้งการเล่นลีกอาชีพและการแข่งขันในโอลิมปิก เกมส์ แต่เธอยังมีทั้งแรงกายและแรงใจเต็มร้อยที่จะปีนบันไดให้สูงขึ้นไปมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ โดยเฉพาะในศึก “โตเกียวเกมส์ 2020” ซึ่งครั้งนี้เธอหมายมั่นปั้นมือที่จะแก้ไขข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้นจากครั้งแรก พร้อมตั้งเป้าที่การคว้าเหรียญรางวัลมาเติมเต็มให้กับชีวิต
“ตอนนี้ก็ฝึกซ้อมอย่างหนัก พยายามแก้ไขข้อบกพร่องของตัวเองทั้งเทคนิคการตีและการยืนระยะการเล่น เราอยากทำให้ดีที่สุด”
“แต่ครั้งนี้จะพยายามไม่กดดันตัวเอง พยายามทำแต่ละแมตช์ มองที่ละรอบ ใช้ในสิ่งที่ซ้อมมาทำออกมาให้ดีที่สุด พยายามเล่นให้สนุก เพื่อที่จะพัฒนาตัวเองต่อไปเรื่อย ๆ”
“ส่วนในอนาคตก็จะมองหาลีกอาชีพในระดับที่สูงขึ้น ลงเล่นเพื่อหารายได้และเพิ่มประสบการณ์ต่อไป ยังอยากจะเล่นปิงปองต่อไปเรื่อย ๆ เท่าที่ยังเล่นไหว” หญิง ทิ้งท้าย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
7 เหตุผลสำคัญส่ง "พาณิภัค วงศ์พัฒนกิจ"คว้าเหรียญทองอลป.
ประวัติศาสตร์วงการกีฬาไทย และกีฬาเทควันโดเกิดขึ้นอีกครั้ง เมื่อ "เทนนิส" ภาณิภัค วงศ์พัฒนกิจ จอมเตะสาวหมายเลข 1 ของโลกวัย 24 ปี เป็นผู้สร้างประวัติศาสตร์พิชิตเหรียญทอง โอลิมปิกเกมส์ 2020 สร้างความสุขให้แฟนกีฬาชาวไทยในยามที่ต้องเครียดกับสถานการร์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19ลุ้นสร้างประวัติศาสตร์!พาณิภัคต้อนเจ้าภาพเข้าชิงทองเทควันโด
"น้องเทนนิส" โชว์ฟอร์มสุดเหนือชั้นไล่เตะ มิยู ยามาดะ จากญี่ปุ่นที่พลิกล็อกเอาชนะตัวเต็งจากเกาหลีใต้เข้ามาเอาชนะแบบคนละชั้น34-12 ผ่านเข้าชิงเหรียญทองเทควันโดรุ่น 49 กก. หญิงได้สำเร็จมั่นใจวัคซีนดี! อังกฤษยกเลิกล็อกดาวน์เดือนนี้-ทุกกีฬาคนดูเข้าได้เต็มสนาม
นายบอริส จอห์นสัน ท่านผู้นำเมืองผู้ดี ประกาศชัดเจนจะยกเลิกกฎข้อบังคับเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสมรณะช่วงกลางเดือนก.ค.นี้ นั่นหมายความว่าวงการกีฬาจะกลับมาสู่ภาวะปกติอีกครั้ง20ปีแห่งความทรงจำ! เอฟไอวีบีให้เกียรติทำคลิปอำลา6เซียนวอลเล่ย์สาวไทย
สหพันธ์วอลเลย์บอลนานาชาติ หรือ เอฟไอวีบี ร่วมให้เกียรติทีมลูกยางสาวทีมชาติไทย ที่นำโดย 6 เซียน ประกอบด้วย วิลาวัณย์ อภิญญาพงศ์, มลิกา กันทอง, อรอุมา สิทธิรักษ์, อำพร หญ้าผา, ปลื้มจิตร์ ถินขาว และ นุศรา ต้อมคำ ด้วยคลิปอำลาแฟนๆ อย่างสุดประทับใจ หลังจากที่พวกเธอได้ลงรับใช้ชาติเป็นครั้งสุดท้ายในศึก เนชั่นส์ ลี
TOP 5 ข่าวในรอบ 3 วัน
อัลบั้มภาพเด็ดๆ
แม่เจ้าโว้ย! นักร้องสาวนุ่งบิกิน...
มาย ฮาเร็ม ส่งภาพเขย่าโซเชียล นุ...
เจนนี่ ธมนภัค พริตตี้สุดฮอต นุ่ง...
ฮาน่า ฮาอึน ชอง ดาว TikTok สาวสว...
นาฟ ฉัฐนันท์ ปล่อยแซ่บท้าลมหนาว ...
เต็มที่แล้ว! ไทย พ่าย อุซเบกิสถา...
คลิปไฮไลท์