ผลคะแนนและราคา 2 in 1 คะแนนในการแข่งสด ผลการแข่งขัน ตารางการแข่งขัน อัตราต่อรอง ข้อมูล คะแนนบาสเก็ตบอล
ฟุตบอล » ฟุตบอลไทย » ANALYSIS:ไขข้อกังขา “ฟีฟ่าตั้งกรรมการรักษาการสมาคมฟุตบอลฯ”

ANALYSIS:ไขข้อกังขา “ฟีฟ่าตั้งกรรมการรักษาการสมาคมฟุตบอลฯ”

Posted 17/10/2015 by goal.com

 

บังยียังมีสิทธิลงเลือกตั้งได้หรือไม่, คณะกรรมการชุดนี้มีหน้าที่อะไร, ฟีฟ่าอาศัยอำนาจอะไรในการจัดการครั้งนี้ โกล ประเทศไทย เปิดตำราตอบทุกปัญหาแบบข้อเท็จจริงล้วนๆ

จากกรณีสมาพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ หรือฟีฟ่า ตัดสินใจออกแถลงการณ์ปลดคณะกรรมการชุดเก่า พร้อมแต่งตั้งคณะกรรมการกลางเข้ามารักษาการสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทยชั่ว คราว พร้อมดำเนินการเลือกตั้งไม่เกินวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2016 นำมาซึ่งความสงสัยมากมายในหมู่แฟนบอล

โกล ประเทศไทย อาสาขอเปิดตำราระเบียบข้อบังคับต่างๆ เพื่อตอบปัญหาเหล่านั้น ด้วยข้อเท็จจริงล้วนๆ

การแต่งตั้งกรรมการรักษาการในครั้งนี้ถือเป็นการแทรกแซงจากฟีฟ่าหรือไม่ พวกเขาใช้อำนาจอะไรในการจัดการครั้งนี้

จากแถลงการณ์ในหน้าเว็บของฟีฟ่า พวกเขาใช้อำนาจตามธรรมนูญฟีฟ่า ข้อ 7 วรรค 2 ซึ่งระบุว่า “คณะกรรมการบริหารของสมาคมชาติสมาชิกภายใต้สถานการณ์จำเพาะ สามารถถูกถอดถอนจากหน้าที่ได้โดยคณะกรรมการบริหาร ภายใต้การหารือกับองค์กรที่เกี่ยวข้อง และแทนที่โดยคณะกรรมการกลางภายใต้กรอบเวลาที่กำหนด”

ทั้งนี้ อำนาจดังกล่าวจะใช้ได้ต่อเมื่ออยู่ในสถานการณ์พิเศษเหมือนเช่นที่วงการ ฟุตบอลไทยกำลังเผชิญอยู่เท่านั้น เนื่องจากคณะกรรมการบริหารชุดเก่าสมควรต้องหมดวาระไป หากมีการเลือกตั้งใหม่ในวันที่ 17 ตุลาคม ตามกำหนดการเดิม ทว่ากลับถูกเลื่อนไปอย่างไม่มีกำหนด จากการประกาศพักงานนายวรวีร์ มะกูดี โดยฟีฟ่า เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม

คณะกรรมการทั้ง 6 คน มาจากไหน

ผ่านการเสนอชื่อของทั้งสมาพันธ์ฟุตบอลเอเชีย (AFC), สมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทย, การกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) รวมถึงผู้มีส่วนได้เสียทั้งหมด ที่ล้วนพบตัวแทนของฟีฟ่า ในภารกิจที่กรุงเทพมหานคร เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว

คณะกรรมการชุดดังกล่าวมีอำนาจหน้าที่อย่างไรบ้าง

คณะกรรมการทั้ง 6 คน ซึ่งประกอบด้วย 
พลเรือเอกสุรวุฒิ มหารมณ์ (ประธานกรรมการ)
นายธนา ไชยประสิทธิ์(รองประธานกรรมการ)
นายสัตยา อรุณธารี (สมาชิก)
นายมานิต วรรธนะสาร (สมาชิก)
นางสาวชื่นชนก ศิริวัฒน์ (สมาชิก)
นายพินิจ สะสินิน (เลขาธิการ) 

จะเข้ามาทำหน้าที่แทนคณะกรรมการบริหารชุดเดิมทั้งหมด เพื่อให้กิจการต่างๆ ในสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทยยังดำเนินต่อไปได้ จนกว่าจะมีกรรมการชุดใหม่จากการเลือกตั้งเข้ามาทำหน้าที่แทน

คณะกรรมการชุดดังกล่าวมีภาระหน้าที่หลักในการจัดการเลือกตั้งนายกสมาคม ฟุตบอลแห่งประเทศไทย ภายในกำหนดเวลาไม่เกินวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2016 ซึ่งคณะกรรมการอาจมีการแก้ไขระเบียบการเลือกตั้งใหม่ หรือยึดตามระเบียบการเลือกตั้งเดิมก็ได้ ไล่ตั้งแต่การรับสมัคร ตรวจสอบ และจัดเลือกตั้ง 

อย่างไรก็ดี พวกเขามีอำนาจหน้าที่เท่าสภากรรมการปกติ สามารถตัดสินใจในเรื่องสำคัญๆของสมาคม ได้ แต่โดยหลักการแล้วจะไม่ยุ่งเกี่ยวกับงานทั่วไปของสมาคม


ประเทศไทยสุ่มเสี่ยงต่อการโดนแบนจากฟีฟ่า เหมือนประเทศเพื่อนบ้านอย่างอินโดนีเซียหรือไม่

กรณีของไทยมีความแตกต่างจากของอินโดนีเซียพอสมควร และเนื่องจากนี่คือการตัดสินใจของฟีฟ่าโดยตรง หากประเทศไทยปฎิบัติตามข้อกำหนดอย่างเคร่งครัด ฟีฟ่าก็ไม่มีเหตุผลที่จะลงโทษประเทศไทยเหมือนที่ทำกับอินโดนีเซีย(จากการไม่ สามารถทำตามเงื่อนไขของฟีฟ่าได้ทันเวลา)แต่อย่างใด

นอกจากนี้ การแข่งขันไทย พรีเมียร์ลีก, โปรแกรมการแข่งขันของทีมชาติ รวมถึงการแข่งขันและโควต้าเอเอฟซี แชมเปี้ยนส์ลีก ยังคงดำเนินการตามปกติทุกประการ

นายวรวีร์ มะกูดี ยังมีสิทธิลงเลือกตั้งได้หรือไม่

ขึ้นอยู่กับการกำหนดวันเลือกตั้งใหม่ของคณะกรรมการกลางซึ่งฟีฟ่าแต่งตั้ง - นายวรวีร์ มะกูดี ถูกฟีฟ่าตัดสิน ‘พักงาน’ ห้ามยุ่งเกี่ยวกับกิจกรรมทางด้านฟุตบอลตั้งแต่วันที่ 7 ตุลาคม 2015 ซึ่งเป็น ‘มาตรการขั้นต้น’ ตามที่ระบุในจรรยาบรรณฟีฟ่า ขอ 85 วรรค 1 ซึ่งจะครบกำหนดเวลา 90 วัน ในวันที่ 5 มกราคม 2016 อย่างไรก็ดี ในจรรยาบรรณข้อเดียวกันยังให้อำนาจประธานคณะกรรมการตัดสินข้อพิพาทฟีฟ่า พิจารณาขยายช่วงเวลาพักงานออกไปได้อีก 45 วัน

หากยึดตามระเบียบการเลือกตั้งเดิมของประเทศไทย ผู้ท้าชิงจะต้องลงสมัครรับเลือกตั้งก่อนกำหนดการเลือกตั้ง 30 วัน ซึ่งหากมีการจัดการเลือกตั้งในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ ซึ่งเป็นวันสุดท้ายที่ฟีฟ่ากำหนดไว้ นายวรวีร์ มะกูดี ก็ยังมีสิทธิ์ลงแข่งขันทุกประการ หากไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ เพิ่มเติมจากฟีฟ่า

อย่างไรก็ดี ต้องติดตามการกำหนดวันเลือกตั้ง รวมถึงระเบียบการเลือกตั้งใหม่จากคณะกรรมการรักษาการชุดนี้ต่อไป

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

TOP 5 ข่าวในรอบ 3 วัน

อัลบั้มภาพเด็ดๆ

More »

คลิปไฮไลท์

More »